งานแกะสลักหน้าบันวัดยางหลวง งดงามวิจิตรบรรจง
การไปเยือนแม่แจ่มหลายครั้งในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้มีโอกาสกราบไหว้บูชาองค์พระพุทธปฏิมาตามวัดต่างๆ
ในตัวเมืองแม่แจ่ม ครั้งหลังสุดเพิ่งไปสัมผัสประเพณีจุลกฐินจึงได้พบม่านประเพณีที่งดงามตามวัฒนธรรมที่สืบมาแต่หนหลัง
องค์เจดีย์กับอุโบสถวัดทัพ
ลองไปดูกันว่าวัดทัพ วัดยางหลวง วัดป่าแดดและวัดพระพุทธเอ้น
มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจอย่างไร พุทธศิลป์ในหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นงานปั้น
แกะสลัก จิตรกรรม สถาปัตยกรรมและปฏิมากรรมนั้นมีความวิไลในฝีมือเชิงช่างมากน้อยขนาดไหน
ชาวบ้านช่วยกันทอผ้าจุลกฐิน วัดทัพ
เทศนาในอุโบสถวัดทัพ (คืนก่อนงานจุลกฐิน)
ผ้ากฐินที่ชาวบ้านช่วยกันทอ+เย็บ+ย้อม เสร็จในคืนเดียว
ขบวนแห่จุลกฐินวัดทัพ
วัดทัพ ก่อนงานแห่กฐินหนึ่งวัน ชาวบ้านมารวมตัวกันที่วัด ผู้หญิงมาปั่นฝ้าย ทอผ้า ย้อมผ้าให้เสร็จในคืนเดียว พอรุ่งเช้าทำการแห่แหน เป็นพิธีกรรมทางศาสนา ผู้เฒ่าผู้แก่ แม่บ้านพ่อบ้าน ลูกเด็กเล็กแดง แสดงความศรัทธาด้วยการมาร่วมงานบุญ (หมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมด้วย) สิ่งที่แอบปลื้มใจคือผู้หญิงทุกคนไม่ว่าสาวหรือแก่ แม่หรือลูก ล้วนใส่ผ้าซิ่นมาร่วมงาน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันเป็นที่เคารพซึ่งยึดโยงมาถึงปัจจุบัน ที่สำคัญผ้าซิ่นแม่แจ่มนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องฝ้ายตีนจก คนที่มาร่วมงานนอกจากได้ร่วมบุญร่วมกุศลยังมีโอกาสได้ชมผ้างามนามซิ่นตีนจกแม่แจ่มด้วย
ซิ่นตีนจก สุดยอดหัตถกรรมงานฝีมือของคนแม่แจ่ม
หอไตรและอุโบสถวัดป่าแดด
วัดป่าแดดเป็นวัดขนาดเล็กโอบล้อมด้วยนาข้าวเขียวขจี สิ่งที่น่าสนใจคือหอไตรโบราณ องค์ประประธานในโบสถ์และจิตกรรมฝาผนัง
พระประธานในอุโบสถวัดป่าแดด
โดยปกติหอไตรในวัดเก่าจะเป็นไม้ทรงสูงทว่าหอไตรของวัดป่าแดดกลับเป็นปูนกว้างแต่ไม่สูง
ด้านหน้ามีรูปปั้นรูปเทวดาแทนที่จะเป็นสิงห์หรือพญานาค
หอไตรวัดป่าแดด
ปูนปั้นรูปเทวดากับงานเขียนสีบริเวณประตูหอไตร วัดป่าแดด
อุโบสถมีสิ่งที่น่าสนใจประกอบกันหลายส่วน จากจุดแรกคือบานหน้าต่างอุโบสถเป็นบานหน้าต่างเรียบๆ
ไม่เหมือนวัดล้านนาแต่คล้ายคลึงวัดเก่าในแดนดินถิ่นอีสานมากกว่า ส่วนการใช้สีเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
คือปรากฏว่าโทนสีที่ใช้เป็นโทนฟ้า-น้ำเงินที่อีสานนิยมใช้ ผมชอบวัดนี้ตรงที่มีความแปลกที่แตกต่างและคงต้องค้นหารายละเอียดต่อไป
จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด
เจดีย์องค์ใหม่ วัดป่าแดด
ทัศนียภาพบันไดทางเดินขึ้นไปสู่ลานอุโบสถวัดพุทธเอ้น
วัดพุทธเอ้นเป็นวัดเก่าแก่ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ อุดมในที่นี้หมายถึงมีบ่อน้ำผุดขึ้นมาจากใต้ดินให้คนได้ดื่มกินมาแต่โบราณกาล
ปัจจุบันชาวบ้านในเมืองแม่แจ่มอาศัยดื่มน้ำจากวัดนี้ คือชาวบ้านจะนำภาชนะมากรอกน้ำเอาไปไว้ใช้ดื่มที่บ้าน
บางคนขนขวดหรือภาชนะมาเต็มคันรถเรียกว่ามาทีเดียวเอากันให้คุ้มจะได้ไม่ต้องมากรอกกันบ่อยๆ
น้ำนี้ถูกพิสูจน์ทราบจากนักธรณีแล้วว่าเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ สามารถนำไปดื่มได้เพราะผ่านการกรองจากชั้นดินชั้นหินมาเป็นอย่างดี
ที่สำคัญน้ำบ่อนี้ไหลตลาดปีไม่เคยเหือดหาย ไม่น่าแปลกใจครับหากน้ำดื่มในร้านสะดวกซื้อมียอดขายไม่ดีเท่าที่ควร
โบสถ์กลางน้ำวัดพุทธเอ้น
นอกจากเรื่องน้ำและพระพุทธประวัติสิ่งที่น่าสนใจคือปฏิมากรรมทางศาสนา เช่นโบสถ์กลางน้ำเป็นโบสถ์เก่ามีขนาดเล็กรวมถึงเจดีย์กับหอไตรก็งดงามเช่นกัน
ศาลาน้ำผุดวัดพุทธเอ้น มีชาวบ้านมากรอกน้ำกันทั้งวัน
องค์เจดีย์กับอุโบสถวัดพุทธเอ้น
หอไตรวัดพุทธเอ้น
อุโบสถวัดยางหลวง
วัดยางหลวงวัดนี้เป็นวัดที่มีขนาดเล็ก (กว่าทุกวัดที่กล่าวถึง) แต่วัดเล็กแห่งนี้กลับมีพุทธศิลป์ค่อนข้างสมบูรณ์ลงตัว
เริ่มตั้งแต่อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนกึ่งตึกกึ่งไม้ ด้านหน้า (จั่ว)
แกะสลักได้วิจิตรบรรจง ส่วนด้านในมีพระประธานอันงดงามด้วยพุทธศิลป์
มีประตูวัดเก่าซึ่งหมายความว่าโบสถ์แห่งนี้สร้างครอบทับประตูโบราณอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีภาพวิหารจากด้านนอก (ผ่านรูหน้าต่าง)
ทอดทาบลงบนพื้นโบสถ์เป็นที่น่าอัศจรรย์ของชาวบ้าน (เหมือนภาพพระธาตุลำปางหลวง) ซึ่งความจริงเป็นปรากฏการณ์ปกติเกิดจากการสะท้อนและหักเหของแสงครับ
พระประทานภายในอุโบสถวัดยางหลวง
ด้านหลังคือพระพุทธรูปกับประตูวัดโบราณ ภายในอุโบสถที่สร้างครอบไว้
วิหารวัดยางหลวง
พญานาคหน้าวิหารวัดยางหลวง
ที่กล่าวมาทั้งหมดคือสี่วัดที่ได้ไปสัมผัส ได้เรียนรู้ และได้ร่วมบุญ
ซึ่งความจริงแม่แจ่มยังมีวัดอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายสิบวัด ยังมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ให้ชื่นชม
บอกตัวเองว่าคงต้องหาโอกาสกลับมาเยือนและศึกษาสิ่งที่ดีงามในเมืองแม่แจ่มอีกครั้งหนึ่ง
ชาวบ้านเดินตัดคันนาไปร่วมงานบุญ
หมายเหตุ
งานจุลกฐินปีนี้ (2558) อำเภอแม่แจ่มจัดขึ้น 2
วัด คือวัดยางหลวงกับวัดทัพ
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบขอบคุณเรื่องราวดีๆ ที่บรรจงเรียงร้อยถ้อยความ พร้อมภาพประกอบอันงดงาม
ตอบลบทำให้คนไทยรักประเทศไทยมากขึ้นค่ะ ..🍁 ❤️🇹🇭