วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เรื่องราวไร้สาระ เรื่องสั้นๆ ในวันป่วยแปลก





เส้นทางสายเปลี่ยว ค่ำคืนว่างเปล่า มีเงาเหงาเดินย้อนแสงไฟเหลืองนวลผ่านพ้นบานประตูสีแดงส้ม จากตีสอง สาม สี่ และตีห้า มีคนเข้ามามิขาดสาย

ในนั้นมืดกว่าภายนอก สว่างกว่าภายใน (ใจ) ทุกคนล้วนมาจากแหล่งมืดดำเท่าๆ กัน มาจากตีนสวรรค์อันเท่าเทียม

ที่นี่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นบ้านพักใจ เป็นบ้านพักใจของใครทุกคน โดยเฉพาะคนที่มาจากเด็กเสิร์พ สาวกร้านจากราวเหล็กอะโกโก้ เกย์เฒ่า หมูเหล่าทวยกะเทย หรือเลยไปถึงกระหรี่จากซ่องหรูรัชดา ยกเว้นโจรจี้ปล้นกับคนเลวที่ชอบเอาเปรียบเหยียบย่ำหัวใจคนอื่น

พวกเขาเซมาจากร้าน กร้านมาจากแหล่งโลกีย์ ในหลายชั่วโมงที่ยืนหยัดอยู่บนเส้นทางโสมมพวกเขาถูกกดขี่ข่มขืนใจ ต้องทำอะไรๆ ที่ฝืนความเป็นคน ต้องทนต่อสภาพบีบคั้นหัวใจตัวเอง

พวกเขามาจากหลายที่ มีชีวิตเติบโตมาหลายจากถิ่น กัดถีบเพื่อหากิน  ช่วงทำงานต้องตวัดลิ้นเพื่อเอาตัวรอด

เขามาที่นี่เพราะมันคือบ้าน บ้านที่มีแต่พี่น้อง มีทั้งเสียงร้องไห้ มีทั้งเสียงหัวเราะ แต่ไร้เสียงเหยียดเยาะเย้ยหยัน ต่างคนต่างให้กำลังใจกันและกัน ต่างมอบพลังปลุกปลอบรอบให้ขวัญเพื่อให้เพื่อนต่อสู้ในวันพรุ่ง วันรุ่งที่พวกเขาไม่อยากให้มาถึง

บ้านหลังนี้เป็นที่สลายทุกข์ ปลุกปั้นความสุขด้วยการดูแลกันและกัน หลายคนพบรัก หลายคนปักใจหอบหิ้วไปมีลูกปลูกหลาน หลายคนรักที่จะมีเพื่อน บางคู่กลายเป็นพี่น้องดูแลกันยามเจ็บจนปนไข้ ใครตกงานช่วยฝากงาน ใครไร้บ้านช่วยกันหาที่ให้อยู่ ดูแลเท่าที่ทำได้ อดมื้อกินมื้อจะเป็นอะไรไป ในเมื่ออยู่ในวิถีเดียวกัน

จากตีสองถึงฟ้าวันใหม่ไม่มีใครไม่สุข แม้ไม่หมดทุกข์ก็ผ่อนร้าวบรรเทา พอถึงเช้าพวกเขาแยกย้ายไปตามบาทวิถี แบกเป้ความหวังดีของผองเพื่อนไปกับหัวใจเปลี่ยวเหงา เขาต้องรีบนอน ต้องพักผ่อนเพื่อขายแรงงานในเย็นย่ำค่ำวันใหม่ ชีวิตในเมืองฟ้าไม่มีอะไรมากไปกว่านี้  

วันหนึ่งเกิดเหตุและจบเหตุ เจ้าหน้าที่บุกเข้ามาจับ แจ้งว่าผับเปิดเกินเวลา พวกเขาช่วยกันอธิบายว่าที่นี่เป็นบ้าน เป็นสถานที่พบปะ ไม่ใช่ผับขยะตามที่เข้าใจ

ตำรวจหัวเราะ เยาะเย้ยเริงร่า อ้างว่าผิดกฎหมาย ผิดกฎหมาย และผิดกฎหมาย   พวกเขาถูกจับ ปรับเป็นเงินมากมาย ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครเหลียวแล

นักข่าวหัวเห็ดเด็ดดอกเป็นข่าวใหญ่โต แอบไปเม้าท์โม้ว่าทลายแหล่งซ่องสุมกลุ่มวัยรุ่น ถุย ถุย นักข่าว

ตำรวจแถลงข่าว เอายาไอซ์มาโชว์ โถๆ ท่าน พวกฉันจะเอาเงินมาจากไหนซื้ออีไอซ์ แค่ยาแก้ไอในวันป่วยไข้มีได้ก็บุญแล้ว ถุย ถุย

คนอย่างพวกเขาจะทำอะไรได้ จำต้องแยกย้ายกันไป หวังว่าวันใหม่จะมีบ้านให้พักมีรักให้กอดเหมือนวันเก่าๆ หวังให้มีที่ๆ เราได้ปรับทุกข์ก่อสุข หวังให้มีที่ๆ เป็นของเรา หวังว่าเงาความสุขจะกลับมาเยือน...เลือนก่อนนะคอนคนบาป


วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แม่แจ่ม วัดวาอาราม (25 เฟรม)


งานแกะสลักหน้าบันวัดยางหลวง งดงามวิจิตรบรรจง

การไปเยือนแม่แจ่มหลายครั้งในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้มีโอกาสกราบไหว้บูชาองค์พระพุทธปฏิมาตามวัดต่างๆ ในตัวเมืองแม่แจ่ม ครั้งหลังสุดเพิ่งไปสัมผัสประเพณีจุลกฐินจึงได้พบม่านประเพณีที่งดงามตามวัฒนธรรมที่สืบมาแต่หนหลัง


องค์เจดีย์กับอุโบสถวัดทัพ

ลองไปดูกันว่าวัดทัพ วัดยางหลวง วัดป่าแดดและวัดพระพุทธเอ้น มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจอย่างไร พุทธศิลป์ในหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นงานปั้น แกะสลัก จิตรกรรม สถาปัตยกรรมและปฏิมากรรมนั้นมีความวิไลในฝีมือเชิงช่างมากน้อยขนาดไหน


ชาวบ้านช่วยกันทอผ้าจุลกฐิน วัดทัพ



เทศนาในอุโบสถวัดทัพ (คืนก่อนงานจุลกฐิน)



ผ้ากฐินที่ชาวบ้านช่วยกันทอ+เย็บ+ย้อม เสร็จในคืนเดียว



ขบวนแห่จุลกฐินวัดทัพ

วัดทัพ ก่อนงานแห่กฐินหนึ่งวัน ชาวบ้านมารวมตัวกันที่วัด ผู้หญิงมาปั่นฝ้าย ทอผ้า ย้อมผ้าให้เสร็จในคืนเดียว พอรุ่งเช้าทำการแห่แหน เป็นพิธีกรรมทางศาสนา ผู้เฒ่าผู้แก่ แม่บ้านพ่อบ้าน ลูกเด็กเล็กแดง แสดงความศรัทธาด้วยการมาร่วมงานบุญ (หมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมด้วย) สิ่งที่แอบปลื้มใจคือผู้หญิงทุกคนไม่ว่าสาวหรือแก่ แม่หรือลูก ล้วนใส่ผ้าซิ่นมาร่วมงาน แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันเป็นที่เคารพซึ่งยึดโยงมาถึงปัจจุบัน ที่สำคัญผ้าซิ่นแม่แจ่มนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องฝ้ายตีนจก คนที่มาร่วมงานนอกจากได้ร่วมบุญร่วมกุศลยังมีโอกาสได้ชมผ้างามนามซิ่นตีนจกแม่แจ่มด้วย


ซิ่นตีนจก สุดยอดหัตถกรรมงานฝีมือของคนแม่แจ่ม



หอไตรและอุโบสถวัดป่าแดด


วัดป่าแดดเป็นวัดขนาดเล็กโอบล้อมด้วยนาข้าวเขียวขจี สิ่งที่น่าสนใจคือหอไตรโบราณ องค์ประประธานในโบสถ์และจิตกรรมฝาผนัง


พระประธานในอุโบสถวัดป่าแดด


โดยปกติหอไตรในวัดเก่าจะเป็นไม้ทรงสูงทว่าหอไตรของวัดป่าแดดกลับเป็นปูนกว้างแต่ไม่สูง ด้านหน้ามีรูปปั้นรูปเทวดาแทนที่จะเป็นสิงห์หรือพญานาค


หอไตรวัดป่าแดด



ปูนปั้นรูปเทวดากับงานเขียนสีบริเวณประตูหอไตร วัดป่าแดด


อุโบสถมีสิ่งที่น่าสนใจประกอบกันหลายส่วน จากจุดแรกคือบานหน้าต่างอุโบสถเป็นบานหน้าต่างเรียบๆ ไม่เหมือนวัดล้านนาแต่คล้ายคลึงวัดเก่าในแดนดินถิ่นอีสานมากกว่า ส่วนการใช้สีเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือปรากฏว่าโทนสีที่ใช้เป็นโทนฟ้า-น้ำเงินที่อีสานนิยมใช้ ผมชอบวัดนี้ตรงที่มีความแปลกที่แตกต่างและคงต้องค้นหารายละเอียดต่อไป


จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด



เจดีย์องค์ใหม่ วัดป่าแดด



ทัศนียภาพบันไดทางเดินขึ้นไปสู่ลานอุโบสถวัดพุทธเอ้น

วัดพุทธเอ้นเป็นวัดเก่าแก่ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ อุดมในที่นี้หมายถึงมีบ่อน้ำผุดขึ้นมาจากใต้ดินให้คนได้ดื่มกินมาแต่โบราณกาล ปัจจุบันชาวบ้านในเมืองแม่แจ่มอาศัยดื่มน้ำจากวัดนี้ คือชาวบ้านจะนำภาชนะมากรอกน้ำเอาไปไว้ใช้ดื่มที่บ้าน บางคนขนขวดหรือภาชนะมาเต็มคันรถเรียกว่ามาทีเดียวเอากันให้คุ้มจะได้ไม่ต้องมากรอกกันบ่อยๆ น้ำนี้ถูกพิสูจน์ทราบจากนักธรณีแล้วว่าเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ สามารถนำไปดื่มได้เพราะผ่านการกรองจากชั้นดินชั้นหินมาเป็นอย่างดี ที่สำคัญน้ำบ่อนี้ไหลตลาดปีไม่เคยเหือดหาย ไม่น่าแปลกใจครับหากน้ำดื่มในร้านสะดวกซื้อมียอดขายไม่ดีเท่าที่ควร 


โบสถ์กลางน้ำวัดพุทธเอ้น


นอกจากเรื่องน้ำและพระพุทธประวัติสิ่งที่น่าสนใจคือปฏิมากรรมทางศาสนา เช่นโบสถ์กลางน้ำเป็นโบสถ์เก่ามีขนาดเล็กรวมถึงเจดีย์กับหอไตรก็งดงามเช่นกัน


ศาลาน้ำผุดวัดพุทธเอ้น มีชาวบ้านมากรอกน้ำกันทั้งวัน



องค์เจดีย์กับอุโบสถวัดพุทธเอ้น



หอไตรวัดพุทธเอ้น



อุโบสถวัดยางหลวง


วัดยางหลวงวัดนี้เป็นวัดที่มีขนาดเล็ก (กว่าทุกวัดที่กล่าวถึง) แต่วัดเล็กแห่งนี้กลับมีพุทธศิลป์ค่อนข้างสมบูรณ์ลงตัว เริ่มตั้งแต่อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนกึ่งตึกกึ่งไม้ ด้านหน้า (จั่ว) แกะสลักได้วิจิตรบรรจง ส่วนด้านในมีพระประธานอันงดงามด้วยพุทธศิลป์ มีประตูวัดเก่าซึ่งหมายความว่าโบสถ์แห่งนี้สร้างครอบทับประตูโบราณอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีภาพวิหารจากด้านนอก (ผ่านรูหน้าต่าง) ทอดทาบลงบนพื้นโบสถ์เป็นที่น่าอัศจรรย์ของชาวบ้าน (เหมือนภาพพระธาตุลำปางหลวง) ซึ่งความจริงเป็นปรากฏการณ์ปกติเกิดจากการสะท้อนและหักเหของแสงครับ


พระประทานภายในอุโบสถวัดยางหลวง



ด้านหลังคือพระพุทธรูปกับประตูวัดโบราณ ภายในอุโบสถที่สร้างครอบไว้



วิหารวัดยางหลวง



พญานาคหน้าวิหารวัดยางหลวง


ที่กล่าวมาทั้งหมดคือสี่วัดที่ได้ไปสัมผัส ได้เรียนรู้ และได้ร่วมบุญ ซึ่งความจริงแม่แจ่มยังมีวัดอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายสิบวัด ยังมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ให้ชื่นชม บอกตัวเองว่าคงต้องหาโอกาสกลับมาเยือนและศึกษาสิ่งที่ดีงามในเมืองแม่แจ่มอีกครั้งหนึ่ง


ชาวบ้านเดินตัดคันนาไปร่วมงานบุญ


หมายเหตุ
งานจุลกฐินปีนี้ (2558) อำเภอแม่แจ่มจัดขึ้น 2 วัด คือวัดยางหลวงกับวัดทัพ
งานจุลกฐินวัดทัพเคยจัดแต่มีช่วงเว้นวรรค ล่าสุดเพิ่งกลับมาจัดได้ 5 ปี

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

SIAM VOLKSWAGEN FESTIVAL (16เฟรม)


เย็นย่ำค่ำวานนี้ ผมแกว่งเท้าไปบนถนนในค่ายทหาร กรมทหารราบ 11 รักษาพระองค์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ ที่ไปเพราะข่าวว่ามีงาน SIAM VOLKSWAGEN FESTIVAL ข่าวที่ได้รับไม่มีรายละเอียดมากนัก เท่าที่ทราบคือมีการรวมตัวของคนรักโฟล์ค มีการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินดังหลายท่าน และที่สำคัญมีการจุดเทียนชัยถวายในหลวง



ภายในงานแบ่งพื้นที่ออกเป็นหลายส่วน คือพื้นที่ส่วนรถยนต์ ร้านขายอาหาร เต็นท์สตรีทอาร์ต เวทีคอนเสิร์ต และศาลาอำนวยการ

ด้วยเป็นคนชอบ VOLKSWAGEN ผมเตร็ดเตร่ไปดูรถเป็นอันดับแรก เดินดูด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ แม้ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของแค่ได้มองก็สุขใจ เหตุที่ชอบเพราะที่บ้าน (เคย) เป็นอู่ซ่อมรถอเมริกัน-ยุโรป VOLKSWAGEN เป็นหนึ่งในรถที่พ่อรับซ่อมและผมเคยเป็นเด็กฝึกหัดในอู่ของพ่อ (เคยขับมันบ้างเล็กน้อย) พ่อบอกว่า VOLKSWAGEN เป็นรถที่ช่วงล่างดีที่สุด แต่น่าเบื่อตรงเรื่องระบายความร้อนได้ไม่ดี โดยเฉพาะในเมืองร้อนอย่างบ้านเรา (หมายถึงรุ่นเก่า)





หลังจากเดินดูโฟล์คสวย+คลาสสิค ผมตัดสินใจชอบคันนี้มากที่สุด 
(แม้จะหลงรักโฟล์คเต่าเปิดประทุนก็ตามที)


สภาพสตรีทอาร์ตภายในเต็นท์


สตรีทอาร์ต


ร้านหนังสือในส่วนสตรีทอาร์ต

ขณะเพลิดเพลินกับ VOLKSWAGEN หลายสไตล์ บนเวทีมีการแจกรางวัลเล็กๆ น้อยๆ จากดารารูปหล่อยอดนิยม คุณมาริโอ เมาเร่อร์ เป็นช่วงลดทอนความน่าเบื่อบางอย่างได้ดีเพราะนอกจากรถ รถ และรถ ไม่เห็นว่ามีกิจกรรมอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน โดยเฉพาะสตรีทอาร์ตที่ผมตั้งใจมาสัมผัส

หลังดูรถก็เริ่มหิว แวะเข้าไปกินหอยทอดกับไส้กรอกอีสาน ถึงตอนนี้ฟ้าเริ่มมืดลง แสงไฟสว่างขึ้น
บนเวทีมีวงโยทวาธิตแสดงขั้นความจืดชืด (ดนตรีดี แต่ไม่ช่วยอะไรมากนัก)

ท้องอิ่มเท้าเดิน เดินเข้าไปในส่วนสตรีทอาร์ต ในนั้นไม่มีอะไรมากนอกจากขายของเกี่ยวกับของแต่งรถเล็กๆ น้อยๆ เสื้อยืด หนังสือ มีร้านรวงประมาณ 10 ร้าน (ไม่แน่อาจไม่ถึงด้วยซ้ำ) สร้างความผิดหวังนิดหน่อยเพราะอย่างน้อยมันควรมีงานอาร์ตที่น่าสนใจสมกับเป็นสตรีทอาร์ต สมกับเป็นงานใหญ่อย่าง SIAM VOLKSWAGEN FESTIVAL (บอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร รอจุดเทียนชัย รอฟังเพลงดีๆ จากศิลปินคุณภาพ)




คนเลือดโฟล์ค หลากรุ่นหลายวัย จุดเทียนชัยถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เทียนชัยถูกจุดขึ้นตอน 1 ทุ่มตรง มีคุณหรั่ง ร็อคเครสต้า ร้องเพลงนำ บรรดาวสาวก VOLKSWAGEN ร้องเพลงตาม ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จพิธี

สังเกตว่าหลังจุดเทียนชัย สมาชิกโฟล์คหายไปจากลานกิจกรรมมากกว่าครึ่ง (ก่อนหน้านั้นไปแล้วครึ่งหนึ่ง)  100% จากช่วงเย็น ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 10 % เท่านั้น



หรั่ง ร้อคเครสต้า


บูม อภิรดี คณาคำ อภิรดี และพยัต ภูวิชัย 

จากนั้นเป็นคิวต่อเนื่องของศิลปิน เริ่มจากคุณบูม+บี๋ อภิรดี (สองแม่ลูก) ทั้งคู่ขึ้นมาพร้อมกับคุณพยัต ภูวิชัย มีเพลงใหม่ที่คุณพยัตเขียนขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะมาร้องให้ฟัง (เพลงไพเราะมาก) ทั้งสามเรียกเสียงตบมือได้มากตามสมควร (คือเท่าที่มีคนดู) ติดตามด้วยศิลปินมีชื่อเสียงระดับแถวหน้าของเมืองไทย เช่น สุเมธ, ฟอร์ด สบชัย, ติ็ก ชีโร่, บิลลี่ ออร์แกน

มาถึงตอนนี้ผมรู้สึกเสียดายเนื้อเสียงดีๆ จากศิลปินดังกล่าว ที่บอกว่าเสียดายเพราะงานนี้เป็นฟรีคอนเสิร์ตเปิดให้ชมฟรีไม่เสียสตางค์ใดๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเข้าใจว่าการโปรโมทงานทำไม่ถึง ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม คือทั้งๆ ที่มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคกลาง) เป็นสปอนเซอร์ร่วม น่าจะทำการประชาสัมพันธ์ได้ดีกว่านี้

ส่วนการที่สมาชิกหรือกลุ่มคนรักโฟล์คกลับก่อนคอนเสิร์ตเริ่มเกิดจากการวางสคริปงานไม่ดี ไม่กระชับ คือปล่อยให้เวลาในแต่ละช่วงผ่านพ้นไปโดยเปล่าประโชยน์ ไม่เชิญชวน (ให้อยู่) ไม่เร้าใจ ยกตัวอย่างเช่น หลังจากคุณมาริโอมาช่วยแจกของรางวัลก็ปล่อยให้เวทีร้าง ซึ่งความจริงช่วงนั้นน่าจะเป็นคิวศิลปิน จะได้มีความต่อเนื่องและไม่น่าเบื่อ ส่วนสตรีทอาร์ตคงต้องทำความเข้าใจใหม่ คือไม่ใช่มาขายเสื้อผ้าสองสามร้านแล้วบอกว่านี่คือถนนศิลปะ


หมายเหตุ

ทางผู้ดำเนินรายการภายในงานการประกาศว่าปีหน้าจะจัดงานขึ้นในช่วงวันแห่งความรัก กุมภาพันธ์ 2559 ก็ได้แต่หวังว่าคนรัก VOLKSWAGEN รักงานศิลปะและงานดนตรีจะได้เสพสัมผัสงานงานระดับชาติอย่างที่ทางผู้จัดพยายามให้มันเป็น (ด้วยรัก VOLKSWAGEN ต้องติดตามต่อไป ขอบคุณครับ)

ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคกลาง) ควรประชาสัมพันธ์งานให้มากกว่านี้ ดีกว่านี้ เพราะนี่ไม่ใช่งานเล็กๆ เป็นงานใหญ่ที่ใช้ชื่อบนเวทีว่า LONG LIVING THE KING OF THAILAND 2015 ส่วนบริษัทรับจัดงานหรือตัวครีเอทีพงานผมว่าปรับเถอะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Camera GoPro "เยาวชนรักบ้านเกิด ปักษ์ใต้บ้านเรา" เกาะสาหร่าย สตูล (24 เฟรม)


ปากอ่าว ท่าเรือทุ่งริ้น

ผมมีโอกาสเดินทางลงใต้ไปกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัยในแขนงต่างๆ ซึ่งครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย Camera GoPro และนักเรียนชั้นมัธยมปลายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเยาวชนคนใต้ได้การเรียนรู้ศาสตร์แขนงใหม่ คือการถ่ายภาพวีดิโอ ภาพนิ่งจากกล้องตัวจิ๋วมากคุณภาพที่เราเรียกกันคุ้นปากกว่ากล้อง GoPro นักเรียนจะได้สร้างสรรค์งานหนังสั้นโดยใช้ต้นทุนเดิมคือแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นกับวิถีชุมชนเดิมผนวกกับความรู้ใหม่ที่เกิดจากการอบรมสัมมนาเพื่อผลิตและถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นให้คนทั่วไปได้รู้จักมุมใหม่ในเมืองชายแดน 


ช่วยกันคนละไม้คนละมือที่ท่าเรือทุ่งริ้น

ผมกับเพื่อนร่วมทางกางปีกลงใต้มีจุดหมายที่จังหวัดสตูล ปลายทางที่เกาะสาหร่ายในน่านน้ำอันดามัน แต่ก่อนไปเกาะเราเข้าไปดูบรรยากาศการอบรมเชิงวิชาการระหว่างวิทยากรผู้มีชื่อเสียงและผู้ชำนาญการเกี่ยวกับการถ่ายภาพ กำกับภาพยนตร์ ทีวี อาทิ คุณตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ คุณศรัณย์ เสมาทอง และคุณธีรภัทร บุญจันทร์ สำหรับโรงเรียนที่เข้าร่วมอบรมมีดังนี้ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนสะเดา “ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์” จังหวัดสงขลา โรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ จังหวัดสตูล (ผมคิดว่าน่าจะมีโรงเรียนจากจังหวัดนาราธิวาสเข้าร่วมด้วยแต่ในเอกสารแจ้งไว้เท่านี้)


มาถึงท่าเรือทุ่งริ้นก็ลงมือมือทำงานกันเลย


เช้าวันใหม่เราเดินทางไปที่ท่าเรือทุ่งริ้นเพื่อลงเรือต่อไปที่เกาะสาหร่าย ขณะลงเรือเราได้พบนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวนหนึ่ง ส่วนอีกจำนวนหนึ่งกระจายไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ (ทั้งหมด 12 เส้นทาง) เท่าที่เห็นนักเรียนดูตื่นเต้นยินดี มาถึงท่าเรือก็ทำงานกันเลย 


การเลี้ยงปลากระชัง ประมงพื้นบ้าน



ประมงพื้นบ้านกับป่าชายเลน ทุ่งริ้น

กล้องตัวเล็กกับเด็กน้อยล่องลอยไปบนสายน้ำปากอ่าว จากหมู่บ้านชาวประมงผ่านป่าโกงกางออกไปสู่อ้อมกอดอันดามันอันกว้างใหญ่ สุดท้ายไปถึงท่าเรือเกาะสาหร่ายโดยใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ ขณะเดินทางหนุ่มใต้วัยเรียนได้มาสัมภาษณ์ผมในฐานะนักท่องเที่ยว เขาถาม เธอถ่าย ทำงานเป็นทีม แต่ด้วยเป็นมือสมัครเล่น มีความประหม่าอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ทั้งนี้เข้าใจว่านี่คืองานแรกในชีวิต เป็นงานไม่เคยคุ้น มีตื่นเต้นกันบ้าง สำหรับผมถือว่าสอบผ่านในบทแรกเพราะพวกเขามีความตั้งใจสูง



หมู่บ้านชาวประมง

เกาะสาหร่ายเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยมุสลิมและคนไทยพุทธ แต่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยมุสลิม บนเกาะมีทั้งหมด 3 หมู่บ้าน มีอาชีพทำประมงเป็นหลัก เป็นประมงขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าประมงชายฝั่ง มีทั้งเลี้ยงปลาในกระชังและออกเรือลงอวนในท้องทะเลกว้าง



ท่าเรือเกาะสาหร่าย


วิถีชีวิตบนเกาะสาหร่ายในชุมชนคนประมง


การเดินทางบนเกาะนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง


หมู่บ้านทั้ง 3 แห่งอยู่กันคนละทิศแยกไปคนละทาง แต่พวกเขารวมใจสร้างสรรค์ให้เกาะนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดุจเดียวกัน บนเกาะประกอบไปด้วยโฮมสเตย์ แหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงอาหารพื้นถิ่น ซึ่งทั้งหมดคือโจทย์ในการนำไปขยายผลให้เป็นหนังสั้นของเยาวชนคนด้ามขวาน



ที่พักแบบโฮมสเตย์ที่บ้านบากันใหญ่ เกาะสาหร่าย มีทั้งแบบริมน้ำและใกล้ฝั่ง



อาหารเที่ยงสุดพิเศษ หอยลายผัดใบโหระพา ปูม้านึ่ง ไข่เจียว แกงเหลือง อร่อยสุดๆ ครับ


บังรัตน์ หรือวิรัตน์ ศิริโสภา อดีตเคยขายแรงงานในประเทศมาเลเซียมานานกว่า 15 ปี ภายหลังกลับบ้านและพบว่าการทำเกษตรพอเพียงตามโครงการพระราชดำริทำให้ชีวิตเป็นสุข


บ่อเลี้ยงปลากับกระท่อมไม้ของบังรัตน์ สถานศึกษาเกี่ยวกับวิถีเกษตรพอเพียง


ม่านฝนปกคลุมท้องทะเลเกาะสาหร่าย

วันนั้นแดดแรงในช่วงต้น ฝนรินล้นในช่วงบ่าย ต้องอธิบายกันให้เข้าใจว่าเกาะในอันดามันช่วงต้นพฤศจิกายนเป็นช่วงปลายมรสุม ความเป็นไปของดินฟ้าอากาศมักเป็นแบบนี้ คนทำสารคดีต้องเตรียมใจ แต่ทั้งนี้พอฝนหยุด ฟ้าก็ใส เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ทำงานกันเต็มที่ ทำงานกับสายฝนมีบอบช้ำเล็กน้อยแต่สนุกสนานกันถ้วนหน้า ผมคิดในใจว่าขอให้ได้งานกันทุกคน และขอให้งานของใครซักคนโดดเด่นเป็นที่สะดุดหูสะกิดตาเพราะผมอยากได้คนทำหนังรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนความจำเจใจไปสู่โลกแห่งการพัฒนาคิด พูดง่ายๆ ผมเบื่อหนังหรือละครจากหลายค่ายที่ทำแบบเดิม ทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นมาหลายสิบปี 



ชาวบ้านบางคนเป็นห่วงเรือ ต้องออกไปลากเรือเข้ามาผูกไว้ที่ชายฝั่ง


เยาวชนบางกลุ่มกลับจากดำน้ำ เข้ามาร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆ บนเกาะสาหร่ายในช่วงบ่า


ทะเลแหวกบนเกาะสาหร่ายหรือที่เรียกกันว่าสันหลังมังกรแดง บริเวณนี้มีหินเม็ดเล็กสีแดงทอดยาวลงไปในทะเลลึก หินบางก้อนแวววาวราวทับทิมสยาม สวยงามมาก นี่คือหนึ่งในอะเมสซิ่งเกาะสาหร่าย


ฟ้าหลังฝน แพะของชาวบ้านออกมาเดินทอดน่องใกล้ๆ บ้านพักแบบโฮมสเตย์

ช่วงสุดท้ายของวัน ผมจากลาเกาะสาหร่ายในช่วงบ่าย ส่วนน้องๆ ยังเก็บรายละเอียดเพื่อนำมาตัดต่อในค่ำคืนต่อไป งานนี้ต้องขอบคุณสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ให้เรามาร่วมสังเกตการณ์ดี ขอบคุณ Camera GoPro ส่งเสริมการณ์ดีและขอบคุณนักเรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการคิดการณ์ดี คงต้องติดตามผลงานดีๆ กันต่อไปในโลกโซเชียล เข้าใจว่าเร็วๆ นี้หนังสั้นจาก “เยาวชนรักบ้านเกิด ปักษ์ใต้บ้านเรา” จะเคลื่อนไหวอยู่ในใจใครหลายๆ คนครับ

หมายเหตุ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมหรือติดตามในยูทูป
       โครงการต่อเนื่องคือการสร้างงานเอนิเมชั่น โดยเริ่มในวันที่ 1-3 ธันวาคมนี้
       เกาะสาหร่ายเปิดให้คนเข้ามาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ช่วงไฮซีซั่นคือช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม ส่วนหลังจากนั้นมีฝน แต่ทั้งนี้ เกาะสาหร่ายอยู่ไม่ไกลจากฝั่งมากนักจึงเที่ยวได้ตลอด ทีสำคัญช่วงฝนเป็นช่วงที่เกาะสวยไปอีกแบบหนึ่ง