ปากอ่าว ท่าเรือทุ่งริ้น
ผมมีโอกาสเดินทางลงใต้ไปกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
ผู้มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัยในแขนงต่างๆ ซึ่งครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
Camera GoPro และนักเรียนชั้นมัธยมปลายในพื้นที่
5 จังหวัดชายแดนใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเยาวชนคนใต้ได้การเรียนรู้ศาสตร์แขนงใหม่
คือการถ่ายภาพวีดิโอ ภาพนิ่งจากกล้องตัวจิ๋วมากคุณภาพที่เราเรียกกันคุ้นปากกว่ากล้อง
GoPro นักเรียนจะได้สร้างสรรค์งานหนังสั้นโดยใช้ต้นทุนเดิมคือแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นกับวิถีชุมชนเดิมผนวกกับความรู้ใหม่ที่เกิดจากการอบรมสัมมนาเพื่อผลิตและถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นให้คนทั่วไปได้รู้จักมุมใหม่ในเมืองชายแดน
ช่วยกันคนละไม้คนละมือที่ท่าเรือทุ่งริ้น
ผมกับเพื่อนร่วมทางกางปีกลงใต้มีจุดหมายที่จังหวัดสตูล ปลายทางที่เกาะสาหร่ายในน่านน้ำอันดามัน แต่ก่อนไปเกาะเราเข้าไปดูบรรยากาศการอบรมเชิงวิชาการระหว่างวิทยากรผู้มีชื่อเสียงและผู้ชำนาญการเกี่ยวกับการถ่ายภาพ กำกับภาพยนตร์ ทีวี อาทิ คุณตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ คุณศรัณย์ เสมาทอง และคุณธีรภัทร บุญจันทร์ สำหรับโรงเรียนที่เข้าร่วมอบรมมีดังนี้ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนสะเดา “ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์” จังหวัดสงขลา โรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ จังหวัดสตูล (ผมคิดว่าน่าจะมีโรงเรียนจากจังหวัดนาราธิวาสเข้าร่วมด้วยแต่ในเอกสารแจ้งไว้เท่านี้)
มาถึงท่าเรือทุ่งริ้นก็ลงมือมือทำงานกันเลย
เช้าวันใหม่เราเดินทางไปที่ท่าเรือทุ่งริ้นเพื่อลงเรือต่อไปที่เกาะสาหร่าย
ขณะลงเรือเราได้พบนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวนหนึ่ง
ส่วนอีกจำนวนหนึ่งกระจายไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ (ทั้งหมด 12 เส้นทาง) เท่าที่เห็นนักเรียนดูตื่นเต้นยินดี
มาถึงท่าเรือก็ทำงานกันเลย
การเลี้ยงปลากระชัง ประมงพื้นบ้าน
ประมงพื้นบ้านกับป่าชายเลน ทุ่งริ้น
กล้องตัวเล็กกับเด็กน้อยล่องลอยไปบนสายน้ำปากอ่าว จากหมู่บ้านชาวประมงผ่านป่าโกงกางออกไปสู่อ้อมกอดอันดามันอันกว้างใหญ่ สุดท้ายไปถึงท่าเรือเกาะสาหร่ายโดยใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ ขณะเดินทางหนุ่มใต้วัยเรียนได้มาสัมภาษณ์ผมในฐานะนักท่องเที่ยว เขาถาม เธอถ่าย ทำงานเป็นทีม แต่ด้วยเป็นมือสมัครเล่น มีความประหม่าอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ทั้งนี้เข้าใจว่านี่คืองานแรกในชีวิต เป็นงานไม่เคยคุ้น มีตื่นเต้นกันบ้าง สำหรับผมถือว่าสอบผ่านในบทแรกเพราะพวกเขามีความตั้งใจสูง
หมู่บ้านชาวประมง
เกาะสาหร่ายเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยมุสลิมและคนไทยพุทธ แต่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยมุสลิม บนเกาะมีทั้งหมด 3 หมู่บ้าน มีอาชีพทำประมงเป็นหลัก เป็นประมงขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าประมงชายฝั่ง มีทั้งเลี้ยงปลาในกระชังและออกเรือลงอวนในท้องทะเลกว้าง
ท่าเรือเกาะสาหร่าย
วิถีชีวิตบนเกาะสาหร่ายในชุมชนคนประมง
การเดินทางบนเกาะนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง
หมู่บ้านทั้ง 3 แห่งอยู่กันคนละทิศแยกไปคนละทาง แต่พวกเขารวมใจสร้างสรรค์ให้เกาะนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดุจเดียวกัน บนเกาะประกอบไปด้วยโฮมสเตย์ แหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงอาหารพื้นถิ่น ซึ่งทั้งหมดคือโจทย์ในการนำไปขยายผลให้เป็นหนังสั้นของเยาวชนคนด้ามขวาน
ที่พักแบบโฮมสเตย์ที่บ้านบากันใหญ่ เกาะสาหร่าย มีทั้งแบบริมน้ำและใกล้ฝั่ง
อาหารเที่ยงสุดพิเศษ หอยลายผัดใบโหระพา ปูม้านึ่ง ไข่เจียว แกงเหลือง อร่อยสุดๆ ครับ
บังรัตน์ หรือวิรัตน์ ศิริโสภา อดีตเคยขายแรงงานในประเทศมาเลเซียมานานกว่า 15 ปี ภายหลังกลับบ้านและพบว่าการทำเกษตรพอเพียงตามโครงการพระราชดำริทำให้ชีวิตเป็นสุข
บ่อเลี้ยงปลากับกระท่อมไม้ของบังรัตน์ สถานศึกษาเกี่ยวกับวิถีเกษตรพอเพียง
ม่านฝนปกคลุมท้องทะเลเกาะสาหร่าย
วันนั้นแดดแรงในช่วงต้น ฝนรินล้นในช่วงบ่าย ต้องอธิบายกันให้เข้าใจว่าเกาะในอันดามันช่วงต้นพฤศจิกายนเป็นช่วงปลายมรสุม ความเป็นไปของดินฟ้าอากาศมักเป็นแบบนี้ คนทำสารคดีต้องเตรียมใจ แต่ทั้งนี้พอฝนหยุด ฟ้าก็ใส เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ทำงานกันเต็มที่ ทำงานกับสายฝนมีบอบช้ำเล็กน้อยแต่สนุกสนานกันถ้วนหน้า ผมคิดในใจว่าขอให้ได้งานกันทุกคน และขอให้งานของใครซักคนโดดเด่นเป็นที่สะดุดหูสะกิดตาเพราะผมอยากได้คนทำหนังรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนความจำเจใจไปสู่โลกแห่งการพัฒนาคิด พูดง่ายๆ ผมเบื่อหนังหรือละครจากหลายค่ายที่ทำแบบเดิม ทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นมาหลายสิบปี
ชาวบ้านบางคนเป็นห่วงเรือ ต้องออกไปลากเรือเข้ามาผูกไว้ที่ชายฝั่ง
เยาวชนบางกลุ่มกลับจากดำน้ำ เข้ามาร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆ บนเกาะสาหร่ายในช่วงบ่าย
ทะเลแหวกบนเกาะสาหร่ายหรือที่เรียกกันว่าสันหลังมังกรแดง บริเวณนี้มีหินเม็ดเล็กสีแดงทอดยาวลงไปในทะเลลึก หินบางก้อนแวววาวราวทับทิมสยาม สวยงามมาก นี่คือหนึ่งในอะเมสซิ่งเกาะสาหร่าย
ฟ้าหลังฝน แพะของชาวบ้านออกมาเดินทอดน่องใกล้ๆ บ้านพักแบบโฮมสเตย์
ช่วงสุดท้ายของวัน ผมจากลาเกาะสาหร่ายในช่วงบ่าย ส่วนน้องๆ
ยังเก็บรายละเอียดเพื่อนำมาตัดต่อในค่ำคืนต่อไป งานนี้ต้องขอบคุณสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ให้เรามาร่วมสังเกตการณ์ดี
ขอบคุณ Camera GoPro
ส่งเสริมการณ์ดีและขอบคุณนักเรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการคิดการณ์ดี คงต้องติดตามผลงานดีๆ กันต่อไปในโลกโซเชียล
เข้าใจว่าเร็วๆ นี้หนังสั้นจาก “เยาวชนรักบ้านเกิด ปักษ์ใต้บ้านเรา”
จะเคลื่อนไหวอยู่ในใจใครหลายๆ คนครับ
หมายเหตุ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมหรือติดตามในยูทูป
โครงการต่อเนื่องคือการสร้างงานเอนิเมชั่น โดยเริ่มในวันที่ 1-3 ธันวาคมนี้
เกาะสาหร่ายเปิดให้คนเข้ามาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ช่วงไฮซีซั่นคือช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม ส่วนหลังจากนั้นมีฝน แต่ทั้งนี้ เกาะสาหร่ายอยู่ไม่ไกลจากฝั่งมากนักจึงเที่ยวได้ตลอด ทีสำคัญช่วงฝนเป็นช่วงที่เกาะสวยไปอีกแบบหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น