วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กอดบางกอก กอดบางรัก

#walkingbkk #walkingbangkok




มีใครบางคนถามผมว่า "ทำไมต้องกอดบางกอก ทำไมต้องช่วยกรุงเทพฯ"
อันนี้เนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ เกิดวางระเบิดในกรุงเทพฯ กระทั่งมีคนไทยและคนต่างชาติเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะเมืองหลวงเกิดภาพในด้านลบอย่างรุนแรง มีผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงความเชื่อมั่นในการลงทุน ทริปนี้จึงเกิดขึ้น เกิดจากจากการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ ททท.และสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่ง หลังจากได้พูดคุยจึงรีบจัดทริปขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดผลสำเร็จให้เร็วที่สุด



ทริปนี้เป็นทริปแรกในการกอดบางกอกของเรา โดยเลือกบางรักเป็นบทเริ่มต้น หลังจากนี้จะมีการเดินเที่ยวกรุงเทพฯ กันทุกอาทิตย์ ซึ่งเราหวังว่าประชาชนคนไทยคงจะช่วยกันอีกแรงหนึ่งด้วยการช่วยกันโชว์+แชร์ภาพสวยงามในกรุงเทพฯ ให้กระจายออกไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง มีแรงเท่าไหร่ช่วยกันเท่านั้น ไทยช่วยไทยเพราะไม่มีใครมาช่วยเรา เราช่วยเราเท่านั้นจึงจะเกิดเป็นผลสัมฤทธิ ทุกอย่างเพื่อประเทศไทยครับ


ศาลเจ้าเจียวเอ็งเบี้ยว


เช้าวันเสาร์ที่ 29 ส.ค. 2558 บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ท่าน้ำสาทรไม่ถึงกับคึกคักเหมือนวันธรรมดาแต่ไม่ถึงกับเงียบเหงา เราเริ่มท่องโลกบางกอกด้วยการแวะเข้าไปที่ศาลเจ้าเจียวเอ็งเบี้ยวเป็นอันดับแรก ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนย่านบางรักด้วยเชื่อว่าเซียนทั้ง 8 องค์ที่สถิตอยู่นั้นศักดิสิทธิยิ่งนัก ตามความเชื่อๆ ว่าถ้าอยากหายจากโรคภัยไข้เจ็บให้กราบไหว้บูชาเซียนหลี่ เถี่ยไกว่ ใครทำการค้าต้องกราบไหว้บูชาเซียนหลวี่ ตัง ถ้าสายศิลปิน นักประพันธ์ กวี ต้องกราบไหว้บูชาเซียนหลาน ไฉ่เหอ กับเซียนหัน เซียง จื่อ เป็นต้น


ศาลเจ้าเจียวเอ็งเบี้ยว

ผมเป็นคนนิยมชมชอบงานสถาปัตยกรรมเก่า ชอบดูโบสถ์ของทุกศาสนา ศาลเจ้าเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมเชิงศาสนาที่ผมหลงใหล ที่หลงใหลเพราะในศาลเจ้ามีภาพเขียนสี งานประติมากรรมเทพเจ้าและสัตว์ในตำนาน ส่วนความเข้มขลังนั้นสะกดใจได้ตั้งแต่แรกเห็นครับ


ร้านประจักษ์


จากศาลเจ้าเราเดินไปบนถนนเจริญกรุง ถนนสายเก่าที่เล่าเรื่องกรุงเทพได้มากมาย ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่ขึ้นชื่อ เช่น ข้าวขาหมู โจ๊กปรินซ์ ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาเจ๊หลี ข้าวหน้าเป็ด+ข้าวหมูแดงหมูกรอบร้านประจักษ์แต่ที่คนไม่ใคร่รู้คือร้านหยั่นวอหย่นเจ้าตำหรับซีอี้ว ถือกำเนิดที่นี่ ปัจจุบันร้านเดิมยังคงอยู่ ยังเปิดขาย ยังมีบทวิถีเดิมๆ จะผิดแผกแตกต่างจากเดิมบ้างตรงที่ย้ายฐานผลิตออกไปทำที่อื่น ส่วนร้านที่บางรักยังคงขายของต่อไปราวลมหายใจเพิ่งเริ่มต้น 
(ร้านทั้งหมดอยู่ติดๆ กัน หาง่าย อยู่ปลายถนนเจริญกรุง)



ร้านหยั่นวอหย่น

หลังจากแวะเยือนและกราบสักการะเทพไท้ในศาลเจ้า กินข้าวที่ร้านประจักษ์  พวกเราก้าวเท้าไปบทบาทวิถี จุดแรกแวะที่วัดสวนพลู มีคำถามว่า "ทำไมต้องวัดสวนพลูก็ในเมื่อแถวบางรักมีวัดอื่นอยู่อีกจำนวนหนึ่ง คือยังงี้ครับวัดสวนพลูเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมเก่าน่าสนใจ มีกุฏิพระสงฆ์เท่ๆ สไตล์เรือนพักแบบขนมปังขิง


กุฏิวัดสวนพลู


อุโบสถวัดสวนพลู

จุดต่อมาเราแวะไปที่โบสถ์หรืออาสนวิหารในโรงเรียนอัสสัมชัญ เราวาดหวังไปกราบพระคริสต์ที่สถิตในโบสถ์แบบโกธิคซึ่งก่อตั้งมานานถึง 206 ปี แต่น่าเสียดายเขากำลังปรับปรุง มีการทำนุบำรุงและซ่อมแซมในหลายส่วน บริเวณนี้นอกจากมีโบสถ์ทรงคุณค่าดังกล่าว ยังมีอาคารโคโลเนียลหลังหนึ่งทอดยาวไปที่ท่าน้ำโอเรียลเต็ล อาคารหลังนี้มีสภาพทรุดโทรมบ้างตามอายุ แต่ยังเปิดให้เช่า คนส่วนหนึ่งไปเช่าถ่ายหนัง ถ่ายทำมิวสิควิดิโอ ถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง หรืออื่นๆ ตามจุดประสงค์ แต่มีเรื่องน่าขำอย่างหนึ่งคือมีป้ายกระดาษห้ามถ่ายภาพติดอยู่นอกอาคาร (ทั้งด้านหน้าและด้านข้าง) ที่ขำเพราะถ้าเราเดินถ่ายรูปในซอยนี้ยังไงๆ มันต้องมีภาพอาคารรวมอยู่ในภาพอยู่ดี (อาคารเจริญกรุงสตูดิโอ)


อาสนวิหารในโรงเรียนอัสสัมชัญ



เสร็จสรรพจากท่าเรือโอเรียลเต็ล เราเดินเข้าไปในซอยแคบผ่านสถานทูตฝรั่งเศสเข้าไปสู่อาคารสุดคลาสสิคที่ใครต่อใครมักมาถ่ายรูปกันเป็นประจำ โดนเฉพาะแฟชั่น รับปริญญา พรีเวดดิ้ง และมิวสิควีดิโอ ที่นี่คืออาคารสถานีดับเพลิงบางรัก ซึ่งเดิมทีเคยเป็นศุลกสถาน (เก็บภาษีสินค้า) ในอดีตนั้นรู้จักกันดีในนาม "โรงภาษี" หรือ ”ภาษีร้อยชักสาม”




อาคารศุลกสถาน


สถานทูตฝรั่งเศส

จากสถานีดับเพลิงบางรักเดินต่อไปที่ชุนชนคนไทยมุสลิม เข้าไปเยี่ยมชมบ้านเก่าอายุร้อยปี แวะเข้าไปเยือนมัสยิดฮารูณแล้วซื้อโรตีกลับบ้าน โรตีพะยี่ห้อ ROTINI เป็นโรตีรสชาติดี สามารถซื้อแล้วนำไปกินได้ด้วยวิธีอุ่นบนกระทะร้อน หรือในหม้อหุงข้าว เป็นโรตีที่ขึ้นชื่อของชุมชน เคยส่งขึ้นห้างใหญ่แถบสยามมาแล้ว


บ้านไม้อายุร้อยปีในชุมชนฮารูณ ตอนนี้ทรุดโทรมตามสภาพ ปัจจุบันไม่มีใครอยู่


มัสยิดฮารูณ

ช่วงเที่ยง เราเข้าไปอาศัยร่มเงาพันธุ์ไม้ใหญ่ให้คลายเหนื่อย ที่นี่มีต้นไม้ มีบ่อน้ำ มีบ้านไทยซึ่งเป็นไม้สไตล์ยุโรปที่นิยมในหมู่ข้าราชบริพารและคนมีฐานะในยุคหลังรัชกาลที่ ๕ (มีเรือนทั้งหมด 3 หลัง) เป็นบ้านของรองศาตราจารย์ วราพร สุรวดี ซึ่งท่านได้ทำบ้านหลังนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก และได้ยกให้กรุงเทพฯมหานคร วันนี้โชคดีได้เจออาจารย์วราพร อาจารย์อายุ 80 ปีแล้วแต่แข็งแรง คุยสนุก ทันสมัยมาก แก่ๆ อย่างผมนี่นั่งอ้าปากหวอฟังเพลินจนลืมหิว (เอาไว้วันหลังมาคุยให้ฟังถึงรายละเอียดพิพิธภัณฑ์) กว่าจะได้ชมบ้าน ชมของเก่าเก็บ กว่าจะล่ำลาเล่นเอาเวลาโรยไปถึงบ่ายสองกว่าๆ จากนั้นจึงไปกินมื้อเที่ยงที่ร้านไก่ย่างสี่พระยา (ใกล้ๆ พิพิธภัณฑ์ฯ ร้านนี้อร่อยใช้ได้เลยครับ)




พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก


ไก่ย่างส้มตำจากร้านไก่ย่างสี่พระยา


บ่ายแก่คนเก่าเดินตามเงาตึก ย้อนกลับมาบนถนนเจริญกรุง-สีลม แวะเข้าไปกราบสักการะเทพเจ้าในวัดแขกหรือวัดพระศรีมหาอุมาเทวี วัดแขกเป็นวัดที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมและงานปฏิมากรรมเทพเจ้า มีสีสันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสียดายอยู่อย่างหนึ่งที่นี่ไม่ยอมให้บันทึกภาพ ซึ่งเรื่องนี้ทางวัดคงมีเหตุผลเฉพาะที่เราไม่รู้ แต่ในความรู้สึกของผม ผมว่าน่าจะอนุญาตในบางส่วน คือคนมาจะได้มีภาพเอาไว้เตือนจำ ระลึกถึง และยังเป็นการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้ที่ได้เห็นภาพหรือได้อ่านบทความด้วย 


ประตูทางเข้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวี

สำหรับคนที่ชอบชมงานอาร์ตอยากให้เดินข้ามซอยฝั่งตรงข้ามวัดแขกแล้วเข้าไปชมงานภาพถ่ายสวยๆ ภายในคัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ งานทั้งหมดที่ปรากฏเป็นงานที่น่าสนใจมากครับ



คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่

สุดท้ายของวัน ผมไปหยุดอยู่ที่ร้านขายขนมปังชื่อ ดี เค เบอร์เกอร์รี่ ร้านนี้เก่าแก่ มีมาตั้งแต่ถนนสีลมยังมีรถราง มีรถเมล์ขาว (รถนายเลิศ)  เรื่องราวจากวันวานของร้านและสีลมผ่านการเล่าขานจากอาเจ็กเจ้าของร้าน มีเรื่องน่าแปลกใจอยู่อย่างหนึ่ง คืออาเจ็กเจ้าของร้านใจดีให้เราชิมขนมปังโน่นนี่ ชวนพูดคุย กระทั่งเรารู้ว่าอาเจ็กเป็นช่างภาพมือดี มีกล้องไลก้าอยู่หลายตัว แกบอกว่าน่าเสียดายเดี๋ยวนี้ถ่ายภาพไม่ได้..แก่แล้ว ส่วนลูกชายเคยทำงานในบริษัทกล้องนิคอน ตอนหลังลาออกมาช่วยที่บ้านดูแลกิจการขนมปัง 
ผมมองหน้าอาเจ๊กด้วยรู้สึกเข้าใจ แววตาเหงาๆ คู่นั้นบ่งบอกว่าเสียดายจริงๆ ช่างภาพหรือคนบันทึกภาพจะมีอะไรเจ็บปวดเท่ากับการไม่ได้ถ่ายภาพหรือถ่ายภาพไม่ได้ แต่ไม่เป็นไรรอยยิ้มเหี่ยวย่นยังบ่งบอกว่าสิ่งที่แกได้คุยกับคนแปลกหน้าไม่ว่าฐานะใดก็ทำให้แกมีความสุขได้ในช่วงหนึ่ง 
ผมยกมือไหว้อาเจ๊กในฐานะช่างภาพ ไม่ใช่คนแปลกหน้า แม้ว่าจะเจอกันครั้งแรก พูดคุยกันไม่นาน แต่มีความว่างเปล่าบางอย่างเชื่อมประสานทำให้ผมรักช่างภาพชราได้ไม่ยาก ก่อนจากยังแอบสัญญาว่าจะมาเยี่ยมแกอีกครั้ง จะได้กลับมาพูดคุยเรื่องความหลังในครั้งที่แกสะพายกล้องท่องโลก หวังว่าภาพที่แกเก็บไว้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและคนบางกอก


อาเจ็กผู้ใจดี เจ้าของร้าน ดี เค เบอร์เกอร์รี่ กับผู้มาเยือน


เป็นอันว่าการเดินเที่ยวย่านบางรักจบลงตรงนี้ หลายชั่วโมงที่ผันผ่านทำให้เรารู้ว่ากรุงเทพฯ ยังมีมนต์ ผู้คนยังน่ารัก ก่อเกิดเป็นคุณค่าต่อการเดินเที่ยว มีความหมายต่อการบันทึกภาพ ที่สำคัญก่อเกิดความสุขได้เฉกเดียวกับการไปเที่ยวต่างจังหวัด ที่สำคัญประหยัดเงิน ประหยัดเวลา ไม่มีเงินแต่ได้รับคุณค่าต่อการเที่ยวชมมากมาย เท่านี้ก็ปลาบปลื้ม เท่านี้ก็ชื่นใจ กอดกันยังไงไม่มีเบื่อ กอดบางรัก กอดบางกอกครับ



อาคารไปรษณีย์กลาง


โบสถ์คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์


หมายเหตุ
-          บางรัก-สีลมยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมาก (หากขยันหาก็เจอ) อาทิ โบสถ์คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์, บ้านเลขที่ 1 ของบางรัก, อาคารไปรษณีย์กลาง, ชุมชนคนอินเดีย, ห้องสมุดเนลสัน เฮย์, พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ 
-          สอบถามเส้นทางการเดินท่องเที่ยวบางรักได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพฯ หรือ TAT Contact Center 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย

-          ช่วยกันกอดบางกอกด้วยการโชว์+แชร์ภาพกรุงเทพฯ คนไทยและคนต่างชาติจะได้รู้จักสยามประเทศมากขึ้น


#walkingbkk #walkingbangkok




ที่พักและร้านอาหารในเขตบางรักมักหลบซ่อนอยู่ในซอกซอย เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ


จักรยานคือทางเลือกหนึ่งในการกอดกรุงเทพฯ

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กอดบางกอก


ใครจะช่วยไทยถ้าไทยไม่ช่วยไทย
ใครจะช่วยกรุงเทพฯ ถ้าเราไม่เข้าใจ

ทำไมกรุงเทพฯ ถึงเป็นเมืองน่าเกลียดน่าชังของคนไทย 
ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงเห็นแก่ตัว เอาเปรียบ ไร้น้ำใจ 
ทำไมกรุงเทพฯ จึงเต็มไปด้วยอาชญากรรม อาชญากร 

ทำไม?
ทำไม?
ทำไม?

ยังมีทำไมอีกมากมายกระจายอยู่ในซอกหลืบหัวใจ

มองกรุงเทพฯ มุมใหม่ มิติใหม่ โดยอาศัยรากเหง้าประวัติศาสตร์และความดีงามในขนบเดิม

พบกับสารคดีภาพถ่ายในวันที่เราต้องกลับมาช่วยกรุงเทพฯ ช่วยเมืองไทย
ยังมีความงามอันหลากหลายซุกซ่อนไว้ในเมืองกรุงครับ

กอดบางกอก เร็วๆ นี้ #walkingbkk #walkingbangkok


วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เปิดบ้านมาม่า เรือนไทยในขุนเขา อ.ปากช่อง โคราช


เมื่อเดือนที่แล้วผมถูกว่าจ้างให้ไปถ่ายภาพบ้านหลังหนึ่งในอำเภอปากช่อง เพื่อนำไปตีพิมพ์ใน K Magazine ซึ่งเป็นนิตยสารแจกฟรีในแดนดินถิ่นอีสานใต้ แรกเริ่มไม่รู้ว่าเป็นบ้านใคร ไม่รู้ว่าบ้านมีรูปลักษณะใด แต่เมื่อไปถึงจึงรู้ว่าเป็นบ้านเรือนไทย ที่สำคัญเป็นบ้านพักของคนในตระกูลมาม่า ใช่ครับ บะหมี่สำเร็จรูปมาม่าที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นเอง


ส่วนพักผ่อนเรือนคุณพ่อ (ทางเดินเชื่อมห้องนอน+ห้องน้ำ)


เรือนไทยประยุกต์ของคุณพ่อ มีระเบียงกว้างโอบล้อม 3 ด้าน

เป็นที่ทราบกันดีว่าเรือนไทยนั้นสวยคลาสสิค มีประวัติคู่แผ่นดินไทยมาเนิ่นนาน โครงสร้างสถาปัตยกรรมเรือนไทยเริ่มชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา โดยแบ่งเป็นเรือนภาคกลาง เรือนล้านนา เรือนภาคใต้ เรือนภาคอีสาน ซึ่งการแบ่งเรือนออกตามภูมิภาคดังนี้หมายถึงเรือนแต่ละชนิดเอื้อต่อการอยู่อาศัยตามสภาพภูมิอากาศซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ส่วนใครจะชอบเรือนแบบใด ลักษณะใด อันนี้ขึ้นอยู่ที่รสนิยม สำหรับเรือนไทยที่ผมถ่ายลงในคอลัมน์ Life and Décor (K Magazine) เลือกเรือนไทยภาคกลาง แต่เป็นเรือนไทยประยุกต์ที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและความเป็นไปในปัจจุบัน


ของตกแต่งบนเรือนหมู่ยังเป็นแบบนิยมไทย

บนเนื้อที่กว้างกว่า 3 ไร่ ณ แนวขุนเขาดงพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปรากฏบ้านเรือนไทย 3 หลังเรียงรายอยู่ในหมู่ไม้นานาพรรณ พันธุ์ไม้ที่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่รั้วบ้านไปถึงด้านในเริ่มตั้งแต่ไม้น้ำดอกงามอย่างบัวสายหลายสี ไม้ไทยดอกหอมและไม้กลีบสวยหลากชนิดเริ่มจากดอกแก้ว โมกข์ พวงคราม ชบา ชงโค ฯลฯ ส่วนไม้ดินถิ่นอีสานที่เราเรียกว่า “กระเจียว” กำลังบานได้ที่ (งามได้ถ้วย) เบ่งบานต้อนรับม่านฝนบนขุนเขาราวดวงดาวผุดพราวบนที่ดอน นอกจากนั้นยังมีไม้เลื้อย ไม้ยืนต้น ไม้ผล ไม้คลุมดิน พันธุ์ไม้มากมายจารนัยกันไม่หมด ถ้าจะดูให้ถี่ถ้วนผมว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วันถึงจะครบครับ

สำหรับตัวบ้านแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
บ้านหลังแรกเป็นบ้านเรือนไทยหลังเดี่ยวยกพื้นสูง มีลักษณะเป็นบ้านไทยทรงสอบ จั่วแหลมแบบเรือนภาคกลางแต่ยกพื้นสูงเหมือนบ้านไทยอีสาน บ้านหลังนี้เป็นที่พักอาศัยของคุณพ่อ


บ้านไทยประยุกต์แบบเรือนเดี่ยวชั้นเดียวยกพื้นสูงของคุณพ่อ (หลังแรก)


ส่วนพักผ่อนเรือนคุณพ่อ


ทัศนียภาพภายในห้องนอนเรือนคุณพ่อ


ห้องทำงานซ่อนอยู่ในห้องนอน (เรือนคุณพ่อ)


ห้องน้ำในเรือนคุณพ่อออกแบบได้ดีมาก ประโยชน์ใช้สอยครบครัน


ผ้าม่านปักลายกระต่าย (ประจำปีเกิดคุณพ่อ) เป็นผ้าม่านเรียบง่ายแบบไทยๆ ไปกันได้ดีกับตัวบ้าน


บ้านหลังที่สองเป็นบ้านไทยหลังเดี่ยวชั้นเดียว คือตัดทอนใต้ถุนออกหมด ทำเป็นบ้านชั้นเดียวแต่ยังคงความเป็นเรือนไทยไว้ได้ดีมาก เรือนหลังนี้เป็นที่พักของคุณแม่


เรือนคุณแม่เป็นเรือนไทยประยุกต์ชั้นเดียว


ทางเชื่อมเรือนคุณพ่อกับเรือคุณแม่ เป็นทางสำหรับวีลแชร์ในอนาคต


สวนหน้าบ้านพ่อ ส่วนใหญ่พันธุ์ไม้ที่เลือกนำมาปลูกเป็นไม้ไทยเกือบทั้งหมด 
มีไม้นอกแซมแทรกบ้างเพียงเล็กน้อย


บ้านหลังสุดท้ายเป็นเรือนไทยแบบเรือนหมู่ซึ่งดูเป็นเรือนไทยภาคกลางมากที่สุด เรือนหมู่หลังนี้เป็นที่พักของดร.พจนี พะเนียงเวทย์ และเครือญาติ ใครไปใครมาต้องมารวมกันที่เรือนหลังนี้


ทัศนียภาพเรือนหมู่ (หลังที่สาม)


มุ้งกับเรือนไทยในห้องนอนเรือนหมู่ (หลังที่สาม)

เรือนทั้งหมดก่อสร้างด้วยไม้สักทอง ฝีมือช่างจากเมืองเก่าอยุธยา ส่วนสถาปนิกมาจากสถาปนึก คือเจ้าของบ้านช่วยกันร่วมคิด คิดจากแบบเดิมแล้วนำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับตัวเอง ที่เห็นได้ชัดในการปรับคือหน้าต่างไม้กรุกระจก เรือนยกสูงกว่าเรือนไทยภาคกลาง ฝาปะกนยังคงอยู่แต่บางส่วนใช้กระจกใสแซมแทรกทำให้แสงสว่างจากภายนอกสาดเข้ามาได้โดยสะดวก ส่วนเพดานนั้นสูงกว่าเรือนไทยแบบเดิมอย่างเห็นได้ชัด อันนี้ดีตรงที่ทำให้บ้านโปร่งสบาย อากาศถ่ายเท ลมพัดผ่านโดยสะดวก ซึ่งตัวเรือนเขาออกแบบให้มีแอร์คอนดิชั่นแต่ในความเป็นจริงแทบไม่ต้องใช้แอร์ฯเลย เหตุเพราะบ้านอยู่บนเนินเขา หน้าต่างบานกว้างช่วยรับลมจากทุกทิศทาง ถ้าเปิดหน้าต่างให้หมดจะมีลมพัดเข้ามาสม่ำเสมอ 


หน้าต่างบานใหญ่ทำให้ลมพัดผ่านโดยสะดวก


ผนังบ้านยังยึกรูปแบบฝาปะกนแต่ประยุกต์ด้วยการนำกระจกเข้ามามีส่วนร่วม 
ทำให้แสงสว่างจากภายนอกสาดเข้าสู่ภายในโดยสะดวก ช่วยทำให้บ้านโปร่งขึ้น


ส่วนสุดท้ายที่ต่อเติมเข้ามาคือทางไม้ลาดลงจากเรือนคุณพ่อไปหาเรือนคุณแม่ ตรงจุดนี้ดีไซน์เผื่ออนาคต ตอนมีอายุมาก คือเป็นทางสำหรับรถวีลแชร์ใช้ขึ้นลงเรือน

สิ่งที่ผมชอบบ้านเรือนไทยกลุ่มนี้คือการวางแปลน การออกแบบให้เหมาะกับบริบทและการเลือกช่าง เจ้าของบ้านเลือกช่างจากเมืองเก่าอยุธยา เป็นทีมช่างสุดยอดฝีมือทีมหนึ่ง จะหาช่างที่ไหนที่ใช้วิธีการเข้าลิ่มในยุคนี้..น้อยเต็มที ที่สำคัญบ้านทุกหลังมีพันธุ์ไม้นานาโอบกอดตัวบ้านรวมทั้งเวลายืนอยู่บนระเบียงจะพบทัศนียภาพขุนเขากว้างไกลและสวนผลไม้ในบริเวณนั้นด้วย


ดอกกระเจียวแบ่งบาน


พวงคราม


ชงโค

ทั้งหมดที่กล่าวมาแต่ต้นคือภาพส่วนหนึ่งของบ้านเรือนไทยในหุบเขาของครอบครัวที่อบอุ่น เป็นบ้านเพื่อการพักผ่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นบ้านที่สร้างมาเพื่อให้ทุกคนหยุดเวลาแล้วมาอยู่รวมกันในวันอันเปี่ยมสุข ท่ามกลางอ้อมกอดธรรมชาติอันพิสุทธิ์ ทั้งยังเป็นตัวอย่างหนึ่งในการเก็บรักษาบ้านเรือนไทยไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชมและศึกษา หากกล่าวว่านี่คือมรดกทางสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่งคงไม่ผิดนัก

ขอขอบคุณดร.พจนี พะเนียงเวทย์และครอบครัวที่เห็นความสำคัญของบ้านไทย รักษ์บ้านไทย นิยมเรือนไทย ได้เก็บรักษาไว้ให้คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นสถาปัตยกรรมไทยต่อไปครับ


ดอกบัวหลากสีไปได้ดีกับบ้านเรือนไทย 


ศาลพระภูมิเรือนไทย



(เสียดายรายละเอียดบ้านมากมายแต่ผมมีเวลาชื่นชมเพียงน้อยนิด)