วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เปิดบ้านมาม่า เรือนไทยในขุนเขา อ.ปากช่อง โคราช


เมื่อเดือนที่แล้วผมถูกว่าจ้างให้ไปถ่ายภาพบ้านหลังหนึ่งในอำเภอปากช่อง เพื่อนำไปตีพิมพ์ใน K Magazine ซึ่งเป็นนิตยสารแจกฟรีในแดนดินถิ่นอีสานใต้ แรกเริ่มไม่รู้ว่าเป็นบ้านใคร ไม่รู้ว่าบ้านมีรูปลักษณะใด แต่เมื่อไปถึงจึงรู้ว่าเป็นบ้านเรือนไทย ที่สำคัญเป็นบ้านพักของคนในตระกูลมาม่า ใช่ครับ บะหมี่สำเร็จรูปมาม่าที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นเอง


ส่วนพักผ่อนเรือนคุณพ่อ (ทางเดินเชื่อมห้องนอน+ห้องน้ำ)


เรือนไทยประยุกต์ของคุณพ่อ มีระเบียงกว้างโอบล้อม 3 ด้าน

เป็นที่ทราบกันดีว่าเรือนไทยนั้นสวยคลาสสิค มีประวัติคู่แผ่นดินไทยมาเนิ่นนาน โครงสร้างสถาปัตยกรรมเรือนไทยเริ่มชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา โดยแบ่งเป็นเรือนภาคกลาง เรือนล้านนา เรือนภาคใต้ เรือนภาคอีสาน ซึ่งการแบ่งเรือนออกตามภูมิภาคดังนี้หมายถึงเรือนแต่ละชนิดเอื้อต่อการอยู่อาศัยตามสภาพภูมิอากาศซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ส่วนใครจะชอบเรือนแบบใด ลักษณะใด อันนี้ขึ้นอยู่ที่รสนิยม สำหรับเรือนไทยที่ผมถ่ายลงในคอลัมน์ Life and Décor (K Magazine) เลือกเรือนไทยภาคกลาง แต่เป็นเรือนไทยประยุกต์ที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและความเป็นไปในปัจจุบัน


ของตกแต่งบนเรือนหมู่ยังเป็นแบบนิยมไทย

บนเนื้อที่กว้างกว่า 3 ไร่ ณ แนวขุนเขาดงพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปรากฏบ้านเรือนไทย 3 หลังเรียงรายอยู่ในหมู่ไม้นานาพรรณ พันธุ์ไม้ที่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่รั้วบ้านไปถึงด้านในเริ่มตั้งแต่ไม้น้ำดอกงามอย่างบัวสายหลายสี ไม้ไทยดอกหอมและไม้กลีบสวยหลากชนิดเริ่มจากดอกแก้ว โมกข์ พวงคราม ชบา ชงโค ฯลฯ ส่วนไม้ดินถิ่นอีสานที่เราเรียกว่า “กระเจียว” กำลังบานได้ที่ (งามได้ถ้วย) เบ่งบานต้อนรับม่านฝนบนขุนเขาราวดวงดาวผุดพราวบนที่ดอน นอกจากนั้นยังมีไม้เลื้อย ไม้ยืนต้น ไม้ผล ไม้คลุมดิน พันธุ์ไม้มากมายจารนัยกันไม่หมด ถ้าจะดูให้ถี่ถ้วนผมว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วันถึงจะครบครับ

สำหรับตัวบ้านแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
บ้านหลังแรกเป็นบ้านเรือนไทยหลังเดี่ยวยกพื้นสูง มีลักษณะเป็นบ้านไทยทรงสอบ จั่วแหลมแบบเรือนภาคกลางแต่ยกพื้นสูงเหมือนบ้านไทยอีสาน บ้านหลังนี้เป็นที่พักอาศัยของคุณพ่อ


บ้านไทยประยุกต์แบบเรือนเดี่ยวชั้นเดียวยกพื้นสูงของคุณพ่อ (หลังแรก)


ส่วนพักผ่อนเรือนคุณพ่อ


ทัศนียภาพภายในห้องนอนเรือนคุณพ่อ


ห้องทำงานซ่อนอยู่ในห้องนอน (เรือนคุณพ่อ)


ห้องน้ำในเรือนคุณพ่อออกแบบได้ดีมาก ประโยชน์ใช้สอยครบครัน


ผ้าม่านปักลายกระต่าย (ประจำปีเกิดคุณพ่อ) เป็นผ้าม่านเรียบง่ายแบบไทยๆ ไปกันได้ดีกับตัวบ้าน


บ้านหลังที่สองเป็นบ้านไทยหลังเดี่ยวชั้นเดียว คือตัดทอนใต้ถุนออกหมด ทำเป็นบ้านชั้นเดียวแต่ยังคงความเป็นเรือนไทยไว้ได้ดีมาก เรือนหลังนี้เป็นที่พักของคุณแม่


เรือนคุณแม่เป็นเรือนไทยประยุกต์ชั้นเดียว


ทางเชื่อมเรือนคุณพ่อกับเรือคุณแม่ เป็นทางสำหรับวีลแชร์ในอนาคต


สวนหน้าบ้านพ่อ ส่วนใหญ่พันธุ์ไม้ที่เลือกนำมาปลูกเป็นไม้ไทยเกือบทั้งหมด 
มีไม้นอกแซมแทรกบ้างเพียงเล็กน้อย


บ้านหลังสุดท้ายเป็นเรือนไทยแบบเรือนหมู่ซึ่งดูเป็นเรือนไทยภาคกลางมากที่สุด เรือนหมู่หลังนี้เป็นที่พักของดร.พจนี พะเนียงเวทย์ และเครือญาติ ใครไปใครมาต้องมารวมกันที่เรือนหลังนี้


ทัศนียภาพเรือนหมู่ (หลังที่สาม)


มุ้งกับเรือนไทยในห้องนอนเรือนหมู่ (หลังที่สาม)

เรือนทั้งหมดก่อสร้างด้วยไม้สักทอง ฝีมือช่างจากเมืองเก่าอยุธยา ส่วนสถาปนิกมาจากสถาปนึก คือเจ้าของบ้านช่วยกันร่วมคิด คิดจากแบบเดิมแล้วนำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับตัวเอง ที่เห็นได้ชัดในการปรับคือหน้าต่างไม้กรุกระจก เรือนยกสูงกว่าเรือนไทยภาคกลาง ฝาปะกนยังคงอยู่แต่บางส่วนใช้กระจกใสแซมแทรกทำให้แสงสว่างจากภายนอกสาดเข้ามาได้โดยสะดวก ส่วนเพดานนั้นสูงกว่าเรือนไทยแบบเดิมอย่างเห็นได้ชัด อันนี้ดีตรงที่ทำให้บ้านโปร่งสบาย อากาศถ่ายเท ลมพัดผ่านโดยสะดวก ซึ่งตัวเรือนเขาออกแบบให้มีแอร์คอนดิชั่นแต่ในความเป็นจริงแทบไม่ต้องใช้แอร์ฯเลย เหตุเพราะบ้านอยู่บนเนินเขา หน้าต่างบานกว้างช่วยรับลมจากทุกทิศทาง ถ้าเปิดหน้าต่างให้หมดจะมีลมพัดเข้ามาสม่ำเสมอ 


หน้าต่างบานใหญ่ทำให้ลมพัดผ่านโดยสะดวก


ผนังบ้านยังยึกรูปแบบฝาปะกนแต่ประยุกต์ด้วยการนำกระจกเข้ามามีส่วนร่วม 
ทำให้แสงสว่างจากภายนอกสาดเข้าสู่ภายในโดยสะดวก ช่วยทำให้บ้านโปร่งขึ้น


ส่วนสุดท้ายที่ต่อเติมเข้ามาคือทางไม้ลาดลงจากเรือนคุณพ่อไปหาเรือนคุณแม่ ตรงจุดนี้ดีไซน์เผื่ออนาคต ตอนมีอายุมาก คือเป็นทางสำหรับรถวีลแชร์ใช้ขึ้นลงเรือน

สิ่งที่ผมชอบบ้านเรือนไทยกลุ่มนี้คือการวางแปลน การออกแบบให้เหมาะกับบริบทและการเลือกช่าง เจ้าของบ้านเลือกช่างจากเมืองเก่าอยุธยา เป็นทีมช่างสุดยอดฝีมือทีมหนึ่ง จะหาช่างที่ไหนที่ใช้วิธีการเข้าลิ่มในยุคนี้..น้อยเต็มที ที่สำคัญบ้านทุกหลังมีพันธุ์ไม้นานาโอบกอดตัวบ้านรวมทั้งเวลายืนอยู่บนระเบียงจะพบทัศนียภาพขุนเขากว้างไกลและสวนผลไม้ในบริเวณนั้นด้วย


ดอกกระเจียวแบ่งบาน


พวงคราม


ชงโค

ทั้งหมดที่กล่าวมาแต่ต้นคือภาพส่วนหนึ่งของบ้านเรือนไทยในหุบเขาของครอบครัวที่อบอุ่น เป็นบ้านเพื่อการพักผ่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นบ้านที่สร้างมาเพื่อให้ทุกคนหยุดเวลาแล้วมาอยู่รวมกันในวันอันเปี่ยมสุข ท่ามกลางอ้อมกอดธรรมชาติอันพิสุทธิ์ ทั้งยังเป็นตัวอย่างหนึ่งในการเก็บรักษาบ้านเรือนไทยไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชมและศึกษา หากกล่าวว่านี่คือมรดกทางสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่งคงไม่ผิดนัก

ขอขอบคุณดร.พจนี พะเนียงเวทย์และครอบครัวที่เห็นความสำคัญของบ้านไทย รักษ์บ้านไทย นิยมเรือนไทย ได้เก็บรักษาไว้ให้คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นสถาปัตยกรรมไทยต่อไปครับ


ดอกบัวหลากสีไปได้ดีกับบ้านเรือนไทย 


ศาลพระภูมิเรือนไทย



(เสียดายรายละเอียดบ้านมากมายแต่ผมมีเวลาชื่นชมเพียงน้อยนิด)

5 ความคิดเห็น:

  1. ช่างน่าชื่นชมแทนเจ้าของบ้านจริงเลย บ้านเรือนไทยงามทุกหลัง
    แต่ที่แปลกคือ เรือนคุณพ่อทำไมจึงแยกจากเรือนคุณแม่?
    ขอฝันไว้ก่อนว่าเราจะมีบ้านเรือนไทยกับเขาสักหลัง
    ขอบคุณเรื่องราวที่เขียนบรรยายได้ครบครันจนทำให้ฝันไป
    ขอบคุณค่ะ..พายุทราย พรายทะเล

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผมไม่ได้ถามเรื่องแยกเรือน แต่เข้าใจว่าแต่ละคนมีโลกส่วนตัว มีเรือนเป็นของตัวเองมันแสนวิเศษ (บ้านนี้น่ารักสุดๆ ครับ)

      ลบ
    2. ผมไม่ได้ถามเรื่องแยกเรือน แต่เข้าใจว่าแต่ละคนมีโลกส่วนตัว มีเรือนเป็นของตัวเองมันแสนวิเศษ (บ้านนี้น่ารักสุดๆ ครับ)

      ลบ
  2. อืมมค่ะ.. มันอาจจะวิเศษณ์อย่างที่บอก จนต้องแยกเป็นเรือนส่วนตัว :)

    ตอบลบ