วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ภูเรือ รอยหลงในดงป่า ตามหาอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว


อำเภอภูเรือยามเช้า เดือนกันยายน ปี 2538 ชายหนุ่มร่างบางเล็กแบกเป้ฝ่าฝนเข้าไปหลบอยู่ใต้ชายคาร้านเสน่ห์ไก่ย่าง หลังทักทายแบบไทยๆ (ไปมาลาไหว้) เสร็จสรรพ เขาเริ่มเล่าเจตนาในการเดินทางมาภูเรือให้เจ้าของบ้านฟังว่าต้องมาถ่ายภาพเพื่อเอากลับไปเขียนและตีพิมพ์ในนิตยสาร Flowers ต้องเหมารถขึ้นไปบนภูเรือและต้องเดินป่า สุดท้ายได้ความว่าเจ้าของร้านอาสาขึ้นไปส่งบนยอดภู แล้วจะมารับตามเวลาที่นัดหมาย โดยขอค่าใช้จ่าย (ค่าน้ำมัน) เป็นเงินจำนวน 200 บาท เขาคิดในใจว่านั่นคือข้อตกลงที่ยอดเยี่ยมที่สุด หลังจากนั้นจึงออกเดินทาง


น้ำตกหินสามชั้น


ระหว่างทางพบความหลากของพันธุ์พืช

เขาแวะที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 1 หรือที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเรือเพื่อแจ้งการมา ขอแผนที่ในการเดินป่า เจ้าหน้าที่ถามและบอกเขาว่า “แน่ใจเหรอ ช่วงนี้ฝนหนัก ตกไม่หยุด ทางบางเส้นอาจปิดตัวเองด้วยต้นไม้ใบหญ้า เดินลำบากนะ”

“ไม่เป็นไรครับ ถ้าไม่ไหวก็ไม่เดิน ขอบคุณมากครับ”  
เขาตอบไปอย่างนั้น ความจริงรู้ดีว่าถึงอย่างไรก็ต้องไป นี่ไม่ใช่เรื่องเที่ยวแต่เป็นเรื่องงาน


ธารน้ำเลิศพบ

เจ้าของร้านไก่ย่างส่งเขากลางฝนบนยอดภู นัดหมายให้มารับราวเที่ยงๆ บ่ายๆ  จากนั้นจึงจากไป

เขาหมุนตัวไปรอบๆ มองไม่เห็นอะไรเลยนอกจากหมอกฝนกับเงาสนเรียงราย บอกตัวเองเบาๆ ว่า "อย่าคาดหวังได้ดื่มแสงอาทิตย์ อย่าได้คิดดื่มด่ำภาพทิวทัศน์ขุนเขา" 
จุดชมวิว “ผาโหล่นน้อย” และ “ยอดภู” ขาวโพลนไปหมด มองไม่เห็นอะไรเลย


ม่านหมอกปกคลุมผืนป่า

เขาออกเดินฝ่าฝนไปบนทางถนนกระทั่งไปถึงแค้มป์ 2 หรือศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2 ได้พบเจ้าหน้าที่หนุ่ม พร้อมๆ คำถามและเสียงเตือน “จะไปไหน ฝนตกอันตรายนะ”

“ไปถ่ายภาพน้ำตกสามชั้นครับ” เขาตอบ

“ถ้าไปแค่นั้นได้ แต่ถ้าลึกกว่านั้นอย่าเลย ฝนตกป่ามันปิด” เขาเตือนอีกครั้ง ก่อนหลบฝนเข้าไปในบ้านพัก


(ภาพบน) ธารน้ำลาดหินแตก 1 สิงหาคม 2558
(ภาพล่าง) ธารน้ำลาดหินแตก กันยายน 2538 
เวลาต่างกันถึง 20 ปี 
ภาพนี้ตีพิมพ์ใน Flowers Magazine ประจำเดือนตุลาคม 2538


ชายผู้ดื้อดึงจากเมืองหลวงก้าวเท้าผ่านป่าสน ดั้นด้นไปข้างหน้าราวมันคือจุดสำเร็จของชีวิต 

หลังจากนั้นเขาได้พบอะไรมากมาย เริ่มจากลื่นล้มบนทางเดิน กล้องกับตัวไถลล้มจมน้ำ ต้องพึ่งเถาวัลย์เดินข้ามห้วยในช่วงน้ำเชี่ยวกราก สุดท้ายเดินหลงออกนอกเส้นทาง กว่าจะกลับมาได้เล่นเอาท้อ ท้อเพราะมันหนักหนาเกินไป ท้อเพราะไม่มีใครบนภูเรือเลย  เป็นนักท่องเที่ยวคนเดียวในป่า ไม่มีสหายกลางพนา (บางแว้ป) ไม่มีศรัทธาหลงเหลืออยู่ในหัวใจ นอกจากไม่เหลือ บางจังหวะยังกลัว หวาด และหวั่น หวั่นไหวในความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ช่วงนั่งหลบฝนใต้ต้นไม้ใหญ่ยังอดถามตัวเองไม่ได้ว่า “มาทำไม มาทำอะไรที่นี่”


เห็ด ผู้ย่อยสลายซากกิ่งไม้ หนึ่งในดรรชนีชี้วัดความชุมชื้นของผืนป่า


ธารน้ำลาดเหมือดแอ ภาพนี้บันทึกเมื่อเดือนกันยายน ปี 2538 
จุดนี้เป็นรอยจำเพราะล้มและลื่นไถล (ทั้งคนทั้งกล้อง) 
ภาพนี้ตีพิมพ์ใน Flowers Magazine ประจำเดือนตุลาคม 2538

1 สิงหาคม 2558 เวลาผ่านไป 20 ปี เขากลับมาอีกครั้งด้วยความตั้งใจเดิม กลับมาเดินบนรอยเดิม เดินซ้ำที่เดิม ที่ๆ เคยสั่งสอนเขาไว้หลายอย่าง ความต่างระหว่างครั้งนี้กับครั้งก่อนคือเจตนา ครั้งที่แล้วเกี่ยวกับงานอย่างเดียว ครั้งนี้เที่ยวด้วยงานด้วย ครั้งที่แล้วประมาท ครั้งนี้พลาดไม่ได้ ครั้งนั้นไม่ได้นึกถึงความสุข ครั้งนี้สนุกตั้งแต่เริ่มวางแผน


มอสบนขอนไม้ ผู้บ่งชี้ความชุมชื้นของผืนป่า

การเดินป่าภูเรือมีให้เลือกหลายเส้นทาง ทางที่ผมเลือกวันนี้คือทางเดิน 6.5 กิโลเมตร จากแค้มป์สองสู่แค้มป์หนึ่ง ซึ่งแบ่งทางเดินออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 จากแค้มป์สองถึงน้ำตกห้วยไผ่ ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร ระยะที่ 2 น้ำตกห้วยไผ่ถึงแค้มป์หนึ่ง ระยะทาง 2 กิโลเมตร 

วันนี้ฝนตกเบาๆ ภูเรือเต็มไปด้วยม่านหมอก เมื่อสัมผัสบรรยากาศโดยรอบทำให้อดีตย้อนกลับมา มองเห็นภาพเมื่อ 20 ปีก่อนเด่นชัดราวเพิ่งผ่านมาแค่สองสามวัน


ไผ่วัยชราล้มระเกะระกะขวางทาง บางทีต้องมุด ข้าม หรือหลบเลี่ยง เบี่ยงไปอีกทาง 
(ทางไปน้ำตกห้วยไผ่)

เส้นทางดังกล่าวมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาจแบ่งได้ง่ายๆ คือพรรณไม้กับสายน้ำ  

ฝั่งซ้ายของสายน้ำเป็นป่าโปร่ง ต้นไม้ที่พบเห็นมีต้นสน เหียง และไผ่ ส่วนฝั่งขวาเป็นป่าดิบ ไม่ได้เปิดเส้นทางให้นักท่องเที่ยวเดิน

ส่วนสายน้ำมีน้ำตกขนาดเล็กเรียงรายอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น น้ำตกสามชั้น น้ำตกเลิศพบ ธารน้ำลาดหินแตก ธารน้ำลาดเหมือดแอ ส่วนสุดท้ายเป็นน้ำตกขนาดกลางซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของการเดินป่าเส้นนี้ “น้ำตกห้วยไผ่


(ภาพบน+ล่าง) ธารน้ำกว้าง ขวางกั้นทางเดิน ต้องข้ามธารนี้ก่อนไปพบน้ำตกห้วยไผ่ 
ช่วงฝนตกหนักน้ำเชี่ยว เต็มลำธาร การข้ามต้องระมัดระวังเป็นที่สุด 
มื่อ 20 ปีก่อน (ตอนนั้น) ต้องใช้เถาวัลย์ช่วยจึงปลอดภัย


การเดินคราวนี้ไม่ต่างจาก 20 ปีที่แล้ว หน้าฝนเดินยาก ทางลื่น เส้นทางบางช่วงถูกพันธุ์ไม้ปกปิด ต้องตั้งสติ ต้องพิจารณาดูทิศทางให้ดี ไม่งั้นหลงชัวร์ โดยเฉพาะในหลายๆ ช่วงต้องมุด ลอด ข้าม และเลี่ยงป่าไผ่ที่ล้มลงมาตามอายุขัย

ใครบางคนอาจมีคำถามว่า มาทำไม? ไปเฮ็ดหยัง? ต้องตอบว่าการเดินป่าหน้าฝนสำหรับผมคือความสุข สุขที่ได้พบความชุ่มชื้น สุขที่ได้พบความงามอันพิสุทธิ์  สุขที่ได้เห็นพันธุไม้งอกงามตามวัฏธรรมชาติ แม้ช่วงนี้ไม่มีดอกไม้ให้ยลมากนัก หาก มอส ตะไคร่ ไลเคน เฟิร์น เห็ด พาใจให้เบิกบานได้เช่นกัน ที่สำคัญ อย่างที่บอกในตอนต้น ผมมาตามหาอดีต เป็นอดีตที่ผมจดจำตลอดมา


มอส-เฟิร์นบนโขดหิน ริมธารน้ำตกห้วยไผ่

สำหรับผู้ที่สนใจเดินป่าภูเรือเส้นนี้ ผมแนะนำให้มาเดินช่วงตุลาคม ช่วงนั้นฝนน้อยลง น้ำในลำธารเยอะขึ้น (น้ำใสกำลังงาม)  มีดอกไม้บานเต็มภู ส่วนถ้ามาเที่ยวช่วงเดือนธันวาคม ช่วงนั้นกล้วยไม้เริ่มตกดอก เริ่มมีนกอพยพบางชนิดหนีหนาวมาจากแดนไกล พวกมันมาอาศัยพักในป่าแห่งนี้ชั่วคราว และที่ดีมากคือทางเดินสะดวกกว่าช่วงนี้ครับ

ครั้งนี้การเดินทางเป็นไปด้วยดี ป่าภูเรือยังต้อนรับผมด้วยอัธยาศัยไมตรีดีดุจเดิม คือมีทั้งโหดน้อยๆ เหนื่อยบางๆ หอบเบาๆ แต่ทั้งหมดทั้งมวลมีเงาความงามปกคลุมไปทั่ว ซึมซับความรู้สึกซาบซึ้งอารมณ์และหัวใจ กลับมาซ้ำครั้งนี้ไม่มีวันลืมครับ


น้ำตกห้วยไผ่
หมายเหตุ

-           อุทยานแห่งชาติภูเรือ อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย นักท่องเที่ยวที่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถขับขึ้นไปบนจุดจอดรถใกล้ๆ ผาโหล่นน้อยแล้วเดินเท้าไปบนยอดภูเรือได้โดยสะดวก ส่วนนักท่องเที่ยวแบบแบกเป้ มีรถสองแถวบริการที่ตลาดสด ค่าบริการขึ้นอยู่กับการเดินทางใกล้ไกล แต่ทั้งหมดมีราคากลางกำหนดไว้แล้ว กรณีที่ผมขึ้นไป ผมให้มารับตอนตีห้า ขึ้นไปส่งบริเวณผาโหล่นน้อย แล้วกลับมารับอีกทีตอนเที่ยง ค่าบริการอยู่ที่ 700 บาท ส่วนที่พักบนภูเรือ (ของอุทยานฯ) มีบ้านพักและที่กางเต็นท์ 2 จุด คือบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 1 (แค้มป์ 1) และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2 (แค้มป์ 2) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่อุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย

-           ท่านที่ไม่คุ้นป่าอย่าทำเก่งเดินคนเดียวเพราะหลงได้ง่าย ควรมีเพื่อนเดินหรือเดินกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้ที่เดินเองกรุณาศึกษาเส้นทางให้รอบคอบ

- ภูเรือมีรีสอร์ตที่พักหลายดีไซน์ หลายราคา หลายระดับ แล้วแต่ความชอบ ฤดูกาลท่องเที่ยวเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงที่คนเยอะที่สุดคือช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคมและมกราคม 

-           การเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้ถนนหมายเลข 1 กรุงเทพฯ-สระบุรี-ลพบุรี แล้วเปลี่ยนมาใช้ถนนหมายเลข 21ลพบุรี-เพชรบูรณ์ จากนั้นเปลี่ยนมาใช้ถนนหมายเลข 203 หล่มสัก-หล่มเก่า-ด่านซ้าย-ภูเรือ นักท่องเที่ยวแบบแบกเป้สามารถเดินทางด้วยรถทัวร์ปรับอากาศที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 บริษัทเพชรทัวร์+เพชรประเสริฐทัวร์ เป็นรถปรับอากาศ 2 ชั้น แนะนำให้นั่งชั้นล่างแต่หลีกเลี่ยงการนั่งเบาะ 3 C+3D เบาะปรับเอนได้น้อยมาก (เกือบไม่ได้) เพราะติดห้องน้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น