วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ตะกั่วป่า เมืองเก่าเล่าเรื่อง (23เฟรม)


โรงเรียนเต้าหมิง เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแต่ปิดไปหลายปีแล้ว 
ตอนนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสายมหายาน โดยมีชาวไต้หวันมาเช่าทำ

หากเอ่ยถึงจังหวัดพังงานักท่องเที่ยวโดยทั่วไปคงคิดถึงท้องทะเล หาดทรายสายลม แหลมปะการังที่เขาหลัก หรือเลยเรื่อยไปในเวิ้งอ่าวที่ประกอบไปด้วยโถงถ้ำและเกาะแก่งน้อยใหญ่ ส่วนนักเดินนิยมไพรจะก้าวเท้าไปตามทางแคบเล็กรกเรื้อของผืนป่าในเขตอุทยานแห่งชาติศรีพังงา ป่าแห่งนี้มีขุนเขาเรียงรายทอดกายขนานกับทะเลอันดามัน มีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจมากมาย เช่น ดอกบัวผุด กล้วยไม้ตระกูลเอื้องและรองเท้านารี มีนกหลากหลายกว่า 130 สายพันธุ์ มีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกตำหนัง น้ำโตนไทร  


บ้านดี่ยว 2 ชั้น ของสกุล ณ นคร ยังคงสภาพที่ดีเยี่ยม งดงามมาก



ด้านขวาศาลเจ้าพ่อกวนอู โรงพระตลาดใต้ 
ส่วนอาคารตึกแถวที่เห็นในภาพเป็นอาคารรุ่นแรกๆ ของตะกั่วป่า



ร่องรอยกำแพงจวนผู้ว่าฯ 

ต้องบอกก่อนว่าพังงาเป็นเมืองเก่าแก่ดังนั้นจึงหลงเหลือสถาปัตยกรรมเอาไว้ให้เห็นทั้งบ้านเรือน วัดวาอาราม ศาลเจ้าชาวจีน รวมถึงมัสยิดของคนไทยมุสลิม เรียกว่ามีความหลากทางชาติพันธุ์และสถาปัตยกรรมคงไม่ผิด ส่วนเมืองที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดของพังงาคงหนีไม่พ้นเมืองตะโกลาหรือเมืองตะกั่วป่าที่รู้จักกันในปัจจุบัน


อุโบสถวัดเสนานุชรังสรรค์ มีลักษณะตัดทอนงานวิจิตรออกไป 
คล้ายคลึงงานสถาปัตยกรรมเชิงศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ปรากฏในกรุงเทพมหานคร



ตู้พระธรรมลายรดน้ำกับกลุ่มพระประธานภายในอุโบสถวัดเสนานุชรังสรรค์




เหมืองบุญสูงในปัจจุบัน

ชื่อเมืองตะโกลาเป็นชื่อเก่าสันนิษฐานได้หลายทางแต่ที่ชัดๆ น่าจะมาจาก โกลาที่แปลว่าเมืองท่าส่วนคำนำหน้าคือ ตะ นั้นเป็นคำวิเศษของคนใต้สายพังงาที่มักใช้คำนี้ในบางประโยค เช่น ไปต๊ะบ้าน ต๊ะสวน ไปต๊ะ…(โน่นนั่นนี่) จะเรียกว่าเป็นคำสร้อยหรือคำที่ใช้ติดปากคงไม่ผิดไปจากความหมายมากนัก ในเวลาต่อมาชื่อตะโกลากลายหรือเพี้ยนมาเป็นตะกั่วป่าในภายหลัง แต่ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรคนตะกั่วป่าในปัจจุบันยืนยันอยากให้คนเดินทางหรือนักท่องเที่ยวเรียก ตะกั่วป่ามากกว่า ตะโกลา


สมาชิกส่วนหนึ่งในชมรมบาบ๋าอันดามัน (ลูกหลานชาวจีนเชื้อสายปีนัง ที่ตะกั่วป่า)

ตะกั่วป่าในอดีตเจริญรุ่งเรืองมาก มีฐานะเป็นจังหวัด (ก่อนพังงา) เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเมืองนี้เต็มไปด้วยเหมืองแร่ดีบุก เมืองจึงคึกคักไปด้วยผู้คนจำนวนมาก ทั้งคนไทยพื้นถิ่น คนจีนจากปีนัง คนยุโรป (อังกฤษ) คนเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการทำเหมืองขนาดใหญ่




รูปแบบอาคารเก่าตะกั่วป่าถูกดูแลไว้เป็นอย่างดี เป็นอาคารที่ยังมีชีวิต หมายความว่ายังมีคนอยู่อาศัย


งานสถาปัตยกรรมในเมืองแห่งนี้มีการผสมผสานระหว่างอาคารแบบยุโรปกับช่างจีน โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ชอบเรียกอาคารเหล่านี้ว่าเป็น “สไตล์ชิโนโปรตุกีส” ซึ่งไม่ถูกต้องนัก คือในยุคทำเหมืองแร่ (ช่วงรัชสมัย ร.7) ไม่ปรากฏหลักฐานว่าคนโปรตุเกสเข้ามามีส่วนร่วมใดๆ ในกิจการเหมืองแร่ ถ้าจะเรียกว่าเป็นแบบเฟร้นโคโลเนียลหรือบริติสสไตล์อะไรทำนองนี้น่าจะใกล้เคียงกว่า กรรมการชุมชนท่านหนึ่งซึ่งเป็นสถาปนิกบอกว่าเรียก “นี โอคลาสิค” ก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าช่างที่สร้างอาคารบ้านเรือนนั้นส่วนหนึ่งเป็นคนจีนดังนั้นจึงมีความเป็นจีนผสมเข้าไปในงานเหล่านี้ด้วย



นอกจากอาคารร้านค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น ยังมีอาคารที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น บ้านเดี่ยวสองชั้นของสกุล ณ นคร รวมถึงวัดวาอารามต่างๆ เช่น วัดเสนานุชรังสรรค์ และศาลเจ้าพ่อกวนอู โรงพระตลาดใต้



ผู้ที่เคยไปเที่ยวมาตะกั่วป่าต่างทราบดีว่าเมืองนี้เงียบสงบ สถาปัตยกรรมบ้านเก่าน่าสนใจ ชีวิตในช่วงเช้าที่ตลาดสดเป็นช่วงที่คึกคักที่สุด ส่วนวันที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนมากที่สุดเป็นวันอาทิตย์เนื่องจากเป็นวันที่เขาปิดถนนในช่วงเย็น ทำเป็นถนนคนเดิน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นฝรั่งต่างชาติเดินทางมาจากเขาหลักและพื้นที่ใกล้เคียง


"ฮัวหลอง" ร้านซ่อมและขายนาฬิกากับร้านของชำเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ว่าชุมชนแห่งนี้
ยังใช้ชีวิตไปตามบทวิถีเดิมๆ



ร้านดวงพรเป็นร้านขายผ้าถุงและเป็นร้านมากฝีมือในการตัดเย็บเสื้อ (ต้องรอคิวกันนานหลายเดือน)

ชาวเมือวงเก่าตะกั่วป่าช่วงนี้ได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการหลายหน่วยจัดงานประจำปีขึ้นมา เช่น เทศบาลเมืองตะกั่วป่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา (ททท.) เชิญชวนมาท่องเที่ยววิถีไทยไปกับวิถีชีวิตชุมชนคนตะกั่วป่า ประจำ ปี 2559 ระหว่างวันที่ 19 - 21 กุมภาพันธ์ 2559 บริเวณถนนอุดมธารา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา 




งานเพ้นท์พื้นผนัง หนึ่งในสตรีทอาร์ตหรือถนนศิลปะที่ชาวเมืองเก่าเพิ่มเติมให้มีสีสันมากขึ้น

งานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนตะกั่วป่าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ส่งเสริมวิถีชีวิตดั้งเดิมให้เป็นมรดกสืบทอดทางวัฒนธรรมเพื่อเป็นรากฐานเสริมความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมท้องถิ่นและอาหารพื้นเมืองของเมืองตะกั่วป่าให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติมากยิ่งขึ้น (ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2)


สะพานเหล็กทอดข้ามที่ลุ่มไปสู่เหมืองแร่เก่า สัญญลักษณ์หนึ่งของเมืองเก่าตะกั่วป่า

สำหรับผม ต้องบอกตรงๆ ว่าชอบเมืองเก่าตะกั่วป่า ที่ชอบมีเหตุผลไม่มาก คือชอบสถาปัตยกรรม ชอบอาหาร (ที่ตลาดเช้า) ชอบนิสัยบางอย่างของคนที่นี่ คือห้วนๆ แต่จริงใจ ใครไม่เคยไปอยากให้ไป ใครเคยไปแล้วถ้ามีโอกาสลองไปอีก ผมเชื่อว่าไปเพียงครั้งเดียวอาจไม่พอต่อการศึกษาเมืองนี้ครับ



หมายเหตุ
-                   นักท่องเที่ยวท่านใดที่สนใจสามารถโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ชุมชนตลาดใหญ่ ตะกั่วป่า  เบอร์โทร  088-5354519
-                   ตะกั่วป่ามีประเพณีถือศีลกินผักที่ยิ่งใหญ่และน่าทึ่งคล้ายที่จ.ตรังและจ.ภูเก็ต แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อที่ปฏิบัติสืบมา
                   ตอนหน้าจะพาไปชิมอาหารอร่อยๆ ในเมืองเก่าตะกั่วป่าครับ


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ amazing thailand logoขอขอบคุณ

-                   ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา (ททท.) สนับสนุนการเดินทางบันทึกภาพในครั้งนี้

2 ความคิดเห็น:

  1. เมืองเก่าเล่าเรื่องได้น่าสนใจมากเลยค่ะ รู้สึกอินเหมือนอยู่ในภาพด้วยเลย..��

    ตอบลบ