ทัศนียภาพสามคลอสองเมือง
บ่ายวันนั้น ยานพาหนะแล่นฝ่าสายฝนมาบนถนนลอยฟ้า จากทะเลน้อยพัทลุงมุ่งสู่ตลาดน้ำคลองแดนในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอระโนด
จังหวัดสงขลากับอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ถนนลอยฟ้าจากทะเลน้อยพัทลุงถึงเขตระโนด
"ยอ" เครื่องมือจับปลาที่ยังคงอยู่คู่คลอง วิถีดิบเดิมของชาวคลองแดน
รถหยุด ฝนบางหยาดขาดเม็ด เราก้าวเท้าเดินไปบนสะพานไม้
หัวใจเต้นถี่เพราะไม่เชื่อว่าตลาดน้ำที่เห็นตรงหน้ามีอะไรมากกว่าที่คาดคิด แรกทีเดียวผมมโนว่าตลาดน้ำคลองแดนเป็นตลาดขนาดเล็ก
(มีภาพคลองบางหลวงเป็นตัวตั้งต้น) แต่เมื่อก้าวเท้าเข้ามาไม่ถึง 20 เมตร
ปรากฏว่ามันใหญ่และน่าสนใจอยู่ในที หลังจากสอบถามพ่อค้าเก่าแม่ค้าแก่ ได้ความว่าชุมชนคลองแดนเป็นชุมชนพุทธอยู่กันมานมนานกว่าร้อยปี
ที่ชื่อคลองแดนเพราะมีแม่น้ำสายเล็กแบ่งเขตระหว่างสงขลากับนครศรีธรรมราช
ตลาดน้ำคลองแดนยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่ง คือตลาดน้ำชนแดน สามคลอง สองเมือง
หรือ “ตลาดน้ำสามคลอง สองเมือง” ที่ได้ชื่อนี้เพราะมีคลองสามสายไหลมารวมกัน คือคลองระโนด คลองชะอวด และคลองปากพนัง
พิพิธภัณฑ์บ้านครูสายัณห์
ในอดีตตลาดคลองแดนเคยเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในละแวกนี้
สมัยก่อนภายในชุมชนประกอบไปด้วยโรงสี ร้านทอง ร้านขายของชำ ร้านขายยา ร้านตัดผม และร้านอะไรๆ
อีกจิปาถะเท่าที่ชุมชนจะพึงมี
แต่วันหนึ่งสถานการณ์เมืองท่าริมน้ำเปลี่ยนไป ทางการได้ตัดถนนหลวงหมายเลข
408 ขึ้น การคมนาคมปรับไปใช้ถนน ใช้รถยนต์ ความนิยมในการใช้การสัญจรทางน้ำลดลงเป็นลำดับ
ไม่อยากเรียกว่าเสื่อมถอยแต่มันไม่มีการสัญจรอีกต่อไป คลองจึงไร้ชีวิต
ทำให้จิตใจคนเก่าก่อนคลอนไหว ภาพความเจริญคงอยู่ในใจ ในทรงจำราวฝันงามติดตรึงมิเลือนหาย
แต่ลอยอยู่อย่างนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวันเวลา
โชคดีในปี พ.ศ. 2552 เจ้าอาวาสวัดคลองแดน
มีความคิดพัฒนาวัดให้มีความเจริญเหมือนแต่เก่าก่อน จึงปรึกษาหารือกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้มีการทำวิจัยและพัฒนาวัดให้เจริญขึ้น จากนั้นได้ทุนมาอีกก้อนหนึ่ง
เป็นทุนให้ชาวบ้านและผู้มีส่วนร่วมในชุมชนคลองแดนไปดูงานเพื่อกลับมาพัฒนาตลาดน้ำคลองแดนให้มีชีวิตอีกครั้ง
ขนมตาลกับผักปลอดสาร ผลิตผลคุณภาพเพื่อผู้บริโภค
ฝนหยาดขาดเม็ด ผู้คนทยอยมาเดินบนสะพานไม้เต็มไปหมด
ด้วยความที่มีคลองสามสายมาพบกัน โครงสร้างบ้านเรือนจึงต่างจากตลาดน้ำอื่นๆ
โดยสิ้นเชิง คือเรียงตัวไปตามคลองสายต่างๆ แต่มีจุดบรรจบของน้ำสามสายซึ่งกลายเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน
บ่ายคล้อย เรือลำน้อยลอยไปมา เด็กผู้ชายพายเรือกันด้วยความสนุกสนานส่งเสริมให้บรรยากาศชาวคลองมีชีวิต
พ่อค้าแม่ขาย ไม่ได้พายเรือ หากขายอยู่หน้าบ้านบนตลิ่งสูง บางคนขายอาหาร
บางคนขายผลไม้ บางคนขายไข่ บางใครขายของที่ระลึก บางคนขายผัก บางคนขายผ้า
เป็นร้านค้าที่มากอารมณ์เพราะมีทั้งของดั้งเดิมและของใหม่ที่เห็นได้ทั่วไปในตลาดน้ำหรือถนนคนเดินอื่นๆ
ที่น่ารักและประทับใจมากคือแม่ค้าบางร้านใช้ใบตองหรือกาบหมากมาเป็นภาชนะในการใส่อาหาร
สร้างความรู้สึกดีๆ คือรู้สึกย้อนยุคและดูแลธรรมชาติ
ที่พักแบบโฮมสเตย์
ส่วนสิ่งที่น่าปรบมือให้ คือการแสดงรำมโนราห์ของเยาวชน
เป็นการแสดงประกอบดนตรีสดด้วยการร่ายรำบนสะพานไม้ให้อารมณ์ดำดิ่งสู่ความเป็นชนบทได้ดีมากๆ
(ผมยืนมองและฟังด้วยความชื่นชมจนเกือบลืมถ่ายภาพ)
ลีลาร่ายรำของสาวน้อยบนสะพานไม้กลางชุมชน
ตลาดน้ำคลองแดนมีที่พักแบบโฮมสเตย์อยู่สามสี่แห่ง
เสนอราคาใกล้เคียงกัน ท่านละ 200 บาท/ 1 คืน+อาหารเช้าหนึ่งมื้อ ถ้าอยากสัมผัสบ้านไม้เก่าแก่อายุอานามกว่า 100 ปี ต้องไปนอนที่สายัณห์
โฮมสเตย์ บ้านหลังนี้ ตกทอดมาถึง 4 ชั่วอายุคน ที่สำคัญโฮมสเตย์หลังนี้มีของเก่าเก็บมากมายคล้ายพิพิธภัณฑ์
(ชั้นล่าง) เจ้าของคือครูสายัณห์ ได้รวบรวมของโบราณสมัยปู่ย่าตายายเอาไว้ดีครับ
บรรยากาศช่วงสนธยามาเยือน
ตลาดน้ำคลองแดน
เป็นตลาดที่ให้ความรู้สึกไปในโทนชนบทชัดเจน สินค้าที่นำมาขายยังมีอะไรๆ
ที่น่าสนใจ เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวสาร ซึ่งเป็นผลผลิตจากชาวบ้านโดยตรง (ไม่แพงด้วย)
บ้านเรือนส่วนใหญ่ยังคงไว้ซึ่งแบบเดิมจะมีต่อเสริมเติมแต่งบ้างเป็นบางส่วน ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มเจิด
อัธยาศัยดี ผมบรรยายได้เท่านี้ หากอยากรู้ลึกต้องหาทางไปเยือนด้วยตัวเอง
ขอให้สนุกกับการเยือนตลาดน้ำ สามคลอง สองเมืองครับ
หมายเหตุ
- - ตลาดน้ำคลองแดน ติดตลาดเดือนละ 4 ครั้ง
คือเปิดทุกวันเสาร์ เริ่มเปิดตั้งแต่เวลา 15.30 น. จนถึง 21.00 น.
- - ตลาดน้ำคลองแดนมีที่พักแบบโฮมสเตย์อยู่สามสี่แห่ง
เสนอราคาใกล้เคียงกัน ท่านละ 200 บาท/ 1 คืน+อาหารเช้าหนึ่งมื้อ
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายัณห์โฮมสเตย์ 081-8967352
- - ชุมชนคลองแดน
ตั้งอยู่ที่ทางทิศเหนือของอำเภอเมืองสงขลา อยู่ห่างประมาณ 100 กิโลเมตร (กม. 15
จากแยกบ้านรับแพรก - ระโนด) และมีระยะทางจากอำเภอเมือง
จังหวัดนครศรีธรรมราชไปทางทิศใต้ประมาณ 100 กิโลเมตรเช่นเดียวกัน
จึงกล่าวได้ว่าชุมชนคลองแดน มีที่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางระหว่างจังหวัดสงขลากับ
จังหวัดนครศรีธรรมราช