วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ถนนนางงาม เมืองเก่าสงขลา


งานอาร์ตบนกำแพงอาคารเก่า

ผมเป็นคนชอบสถาปัตยกรรมอาคาร บ้าน วัด วัง ทั้งเก่าและใหม่ ทั้งแบบไทยและที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ที่ชอบเพราะสถาปัตยกรรมเก่าก่อประโยชน์ในเรื่องสิ่งที่ประเทศไทยได้รับ การประยุกต์ปรับปรุง ความคงอยู่ รวมถึงวิถีความเป็นไป ส่วนสถาปัตยกรรมใหม่ได้เห็นวิธีคิดของสถาปนิกในปัจจุบันว่าคิดและทำอะไรกับเมือง ทำอะไรกับตัวสถาปัตยกรรม ซึ่งในหลายส่วนของโลกปัจจุบันสถาปนิกส่วนหนึ่งคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ยกเว้นประเทศไทยที่ยังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากทะยานไปตามความคิดของนักลงทุน เท่แต่ไม่สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ



การท่องเที่ยวเมืองหรือที่นิยมเรียกถนนคนเดินในจังหวัดต่างๆ มักมีสถาปัตยกรรมเก่าให้เราชื่นชมอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นมีถนนนางงามแห่งเมืองสงขลาอยู่แถวหน้าของเมืองไทย ที่กล้าบอกว่าเป็นถนนคนเดินที่มีชีวิตเพราะชีวิตมิได้ปรุงแต่งแต่ยังคงดำเนินวิถีเหมือนครั้งเก่าก่อน จะมีบ้างที่ตัวอาคารปรับไป โรยไป รื้อร้างไปเนื่องจากหมดสภาพ แต่โดยรวมยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น สภาพบ้านเรือนยังดีเยี่ยม ที่สำคัญ บนถนนสายนี้หรือใกล้เคียงยังพบศาลเจ้า วัดพุทธและมัสยิดอยู่ใกล้ๆ กัน แสดงถึงความอยู่ร่วมที่งดงาม เป็นสิ่งชี้ชัดถึงความสมัครสมานสามัคคีโดยไม่มีความต่างทางศาสนามาเป็นตัวดักเสรีภาพในเชิงความคิด หรืออีกนัยหนึ่งศาสนาไม่ได้เป็นชนวนสงคราม ไม่ได้เป็นตัวประกันในเรื่องความแตกแยกอย่างที่เข้าใจ


ศาลหลักเมือง


บนถนนนางงามมีร้านอาหาร ร้านขนมเก่าแก่ ทั้งอาหารจีนไทย มีอาคารตั้งแต่ยุคเก่าก่อนปรากฏให้เห็นมากมาย ตัวอาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารประเภทตึกแถวแบบจีนดั้งเดิมและตึกแถวแบบอาคารพาณิชย์ ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย



ตึกแถวแบบจีนดั้งเดิม สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2379 ซึ่งเป็นช่วงแรกในการสร้างเมืองสงขลา รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นอาคารปูนหรือกึ่งปูนกึ่งไม้ ด้านล่าง (ด้านหน้า) ใช้ค้าขาย ด้านบนใช้เก็บของ ด้วยตึกแถวมีความลึกมากเฉลี่ยประมาณ 30-40 เมตร ผู้ออกแบบจึงจัดวางพื้นที่โล่งกลางบ้าน (Court) ก่อประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนท้ายสุดของอาคารทำเป็นที่อยู่อาศัย ทางกรมศิลปากรได้ระบุว่าอาคารจีนหลังแรกของสงขลาไม่ได้อยู่บนถนนนางงาม แต่ตั้งอยู่ที่ถนนหนองจิก



ตึกแถวแบบอาคารพาณิชย์ เป็นอาคารที่สร้างถัดจากอาคารรุ่นแรก ลักษณะสถาปัตยกรรมมีความคล้ายกับอาคารรุ่นแรกแต่มีการประยุกต์ให้ทันสมัยขึ้น ตัดทอนรายละเอียดลง ตัดทอนความเป็นจีนออกไปบ้างบางส่วน อาคารยุคนี้มีอายุประมาณ 70 ปีขึ้นไป


โรงสีแดงหรือหับโห้หิ้น

นอกจากนี้ยังมีโรงสีขนาดใหญ่ “หับโห้หิ้น” หรือ “โรงสีแดง”  ซึ่งปัจจุบันเลิกกิจการสีข้าวเปลี่ยนเป็นท่าจอดเรือประมงและทำเป็นแหล่งข้อมูลสนับสนุนการท่องเที่ยว โรงสีหับโห้หิ้นด้านหนึ่งติดถนน ด้านหนึ่งติดทะเลสาบสงขลา เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมเยือนทุกวัน (คนในวงการโฆษณาตั้งแต่ยุค 20 กว่าปีที่แล้วคงคุ้นชื่อ "หับโห้หิ้น" กันดีเพราะมีการนำชื่อนี้มาตั้งเป็นบริษัทเกี่ยวการผลิตโฆษณา เป็นหนึ่งในบริษัทฝีมือฉกาจเป็นที่ยอมรับในวงการโฆษณาเป็นอย่างมาก)


พรีเวดดิ้งที่ท่าเทียบเรือหับโห้หิ้น

ปัจจุบันถนนนางงามยังเป็นแหล่งการค้าแม้ไม่คึกคักดังเดิมแต่ยังคงมีลมหายใจอยู่ ที่สำคัญถนนสายนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เมือง เป็นตัวบ่งชี้ความเจริญในอดีตซึ่งก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาริมทะเลสาบสงขลาอันกว้างใหญ่ 



ใครไปสงขลาอย่ามัวแต่เพลิดเพลินกับสิ่งเร้าอื่นๆ ถนนนางงามและถนนบริวารที่อยู่ติดกันล้วนมีสิ่งละอันพันละน้อยให้เข้าไปศึกษาเที่ยวชม มีร้านอาหารและร้านขายขนมโบราณให้ชมชิมโดยฝีมือการปรุงจากผู้เฒ่าผู้แก่หรืแแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่ได้รับมรดกตกทอดเกี่ยวการปรุงอาหารยังรักษารสชาติดั้งเดิมไว้ได้ดีเยี่ยม



การไปเยือนถนนางงามครั้งนี้มีเรื่องน่าเสียดายอย่างหนึ่งคือผมมีเวลาน้อยมากต้องลากสังขารชราจากถนนนางงามไปทะเลน้อยพัทลุง ไปตลาดน้ำคลองแดน แต่ถึงอย่างไรก็ยังดีใจที่ได้มาเพราะห่างหายจากถนนสายนี้นานมากกว่า 10 ปีแล้ว

สำหรับบทสรุปส่วนตัวผมกล้าบอกว่าถนนนางงามเป็นถนนที่น่าเดินมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เป็นชุมชนทรงคุณค่าที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่คู่เมืองสงขลาสืบไป

หมายเหตุ
- ขอแนะนำให้ไปช่วงเช้าหรือบ่าย แสงแดดยามเช้าและเย็นตกกระทบอาคารเก่าแก่นั้นเข้มขลังนัก เห็นแล้วรักเลย


ทะลสาสสงขลา บริเวณท่าเรือหับโห้หิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น