เรื่องราวต่อไปนี้คือร่องรอยการต่อสู้เพื่ออิสระภาพของโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาที่หลบหนีการปราบปรามจากรัฐบาลมาเลเซียเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการและเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย – มาเลเซีย และเนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์จีนจึงทำให้มีชื่อเรียกและรู้จักกันในนามว่า “จีนคอมมิวนิสต์มาลายา” หรือ “โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา” หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “จคม. ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากอีกฉากหนึ่งซึ่งน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
#ThanilandStandupChallenge
บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาปรากฏชัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่
2 เมื่อได้ให้ร่วมมือกับอังกฤษในการต่อต้านญี่ปุ่น และจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า “กองทัพมาลายาต่อต้านญี่ปุ่น" (The Malayan People’s
Anti-Japanese Army -MPALA)
เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านและทำลายล้างญี่ปุ่น
ประตูทางเข้า (ด้านนอก)
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผลให้อังกฤษกลับมามีอิทธิพลเหนือมาลายูตามเดิม และให้การรับรองว่าพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องกฎหมาย แต่เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐบาลสหพันธ์มาลายากำหนด เช่น การไม่ยอมยุติการแทรกซึมระบบคอมมิวนิสต์และไม่ยอมคืนอาวุธทั้งหมดให้กับอังกฤษ (ข้อมูลตรงนี้ต้องค้นกันให้ละเอียดอีกที เพราะทางด้าน จคม.ได้อ้างว่าอังกฤษกดขี่ข่มเหงจึงต้องลุกขึ้นมาจับปืนต่อสู้) ด้วยเหตุนี้พรรคคอมมิวนิสต์มาลายาจึงเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลอังกฤษและดำเนินนโยบายต่อต้านอังกฤษ พร้อมกับการออกแถลงการณ์ รณรงค์ ต่อต้านอังกฤษด้วยวิธีการก่อการร้ายและวิธีการรุนแรง
ประตูทางเข้า (ด้านใน) จุดผ่านเข้าไปสู่ตำนานอัศจรรย์
การเคลื่อนไหวปฏิบัติการและการตั้งฐานที่มั่นของโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ ทำให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายในการป้องกันและปราบปรามด้วยการทำความตกลงร่วมมือกับมาเลเซีย นับตั้งแต่การประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อ พ.ศ. 2491 จัดตั้ง
“กองปราบปรามผสม” มีกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการรักษาการณ์กลาง
และคณะกรรมการรักษาการณ์ทักษิณ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมตำรวจ ต่อจากนั้นได้ทำความตกลงร่วมมือกันอีกหลายครั้งและปรากฏในรูปของการทำความตกลงร่วมมือในการปฏิบัติการร่วมตามแนวพรมแดนไทย
– มาเลเซีย
จากการดำเนินการปราบปรามขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ทั้งทางการเมืองการทหารอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในช่วงที่พลโทหาญ ลีลานนท์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ใช้นโยบายใต้ร่มเย็นกดดันโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาด้วยปฏิบัติการจิตวิทยาและการทหารตามแผนยุทธการใต้ร่มเย็น
11 และ
ยุทธการใต้ร่มเย็น 15 จนสามารถยึดกองกำลังของโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาได้หลายพื้นที่
ปฏิมากรรมเจ้าแม่กวนอิม สร้างขึ้นในภายหลัง
ต่อมามีการพูดคุยเจรจากันหลายครั้งจึงได้มีการลงนามในความตกลงเพื่อยุติสถานการณ์การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาเมื่อวันที่
2 ธันวาคม
พ.ศ. 2532 ที่อำเภอหาดใหญ่
จังหวัดสงขลา โดยมีจีนเป็ง
เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นผู้ลงนามฝ่ายคอมมิวนิสต์ ดาโต๊ะ ฮาจี
วันซีเดท ปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียเป็นผู้ลงนามฝ่ายมาเลเซีย และ พลเอก
ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการทั่วไปและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นประธานในฐานะพยาน
ถือเป็นการยุติบทบาทของโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาตั้งแต่นั้น
ทางเดินช่วงแรก
ปัจจุบันสถานที่แห่งอุดมการณ์แห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นการศึกษาเชิงประวัตศาสตร์ที่คนจีนในมาเลเซียนิยมเข้ามาชมเป็นอย่างมาก
อุโมงค์ปิยะมิตรคือบ้าน คือหลักฐาน คือร่องรอยการสู้รบของกองกำลังคอมมินิสต์มาลายาหรือโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) ที่นี่เป็นฐานหลบภัยทางอากาศ เป็นฐานต่อสู้ทางบก ฐานแห่งนี้มีดีตรงที่สร้างเป็นอุโมงค์ขนาดยาว โดยพวกเขาใช้วิธีเจาะภูเขาให้เป็นอุโมงค์ยาว 1 กิโลเมตร การสร้างใช้กำลังคน 40 - 50 คน ขุดเข้าไปในภูเขา และใช้เวลาเพียง 3 เดือน จึงแล้วเสร็จ
บางข้อมูลแจ้งว่าอุโมงค์ปิยะมิตรก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2520 บางข่้อมูลแจ้งว่าสร้างในปีพ.ศ.2519 ซึ่งคลาดเคลื่อนไป 1 ปี แต่ทั้งนี้สหายเฒ่าเล่าว่าเขาเข้ามาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปีพ.ศ.2519 และพวกเขาได้เริ่มสร้างอุโมงค์ในปีนั้น
ลานหุงหาอาหาร จัดแสดงให้นักท่องเที่ยวดูและรู้ถึงความเป็นอยู่ของ จคม.ในขณะนั้น
โดยมีสหายเฒ่าเป็นผู้บรรยาย
ภายในอุโมงค์สร้างบันไดเป็นเชิงชั้นลดหลั่นเป็นระดับ
อุโมงค์ปิยะมิตรมีความกว้าง 5-6 ฟุต จุคนได้เกือบ 200 คน มีทางเข้าออกทั้งหมด 9 ทาง เชื่อมต่อถึงกันหมด ปัจจุบันเหลือ 6 ทาง ภายในอุโมงค์ แบ่งประโยชน์ใช้สอยไว้มากมาย ราวบ้านผสมผสานกับออฟฟิศ เช่น แบ่งเป็นห้องประชุม ห้องนอน ห้องเก็บเสบียง สถานีวิทยุ มีซอกซอยให้เดินลัดเลาะไปตามเส้นทางซับซ้อน (ถ้าไม่คุ้นชินอาจหลงได้โดยง่าย) ส่วนด้านบนเป็นป่าทึบมีต้นไม้ใหญ่มากมายปกคลุม รวมถึงธารน้ำตกขนาดเล็กด้วย
ห้องประชุมในอุโมงค์ปิยะมิตร
อุโมงค์ปิยะมิตรเป็นอุโมงค์ที่น่าอัศจรรย์ตั้งแต่โครงสร้างที่แข็งแรง ทางเดินแคบเล็กแต่เดินได้สะดวก ภายในเย็นสบายเพราะมีทางลมผ่านเข้าออกหลายทาง ผมชอบตรงที่อุโมงค์เป็นเชิงชั้นหลายระดับ มีบันไดเป็นตัวเชื่อมในหลายจุด มีการแยกสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในแต่ละห้องอย่างชัดเจน
ขณะเดินไปตามห้องต่างๆ ผมพบว่าอุโมงค์ปิยะมิตรเป็นสถาปัตยกรรมจากฝีมือมนุษย์ที่งดงามและทันสมัยมาก ที่ทันสมัยเพราะปัจจุบันสถาปนิกในโลกตะวันตกและตะวันออก (ญี่ปุ่น) หลายคนนิยมดีไซน์บ้านให้เป็นถ้ำ ฝังอยู่ในถ้ำ เจาะภูเขาหรือผืนดินเข้าไปอยู่ในนั้น หากนับจากจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 แล้วเดินตามเข็มนาฬิกามาถึงปัจจุบันจะพบว่ามันเป็นงานนำสมัยมากกว่าทันสมัย หรือใครบางคนอาจเรียกมันว่าโพส์ตโมเดิร์น
ที่กราบไหว้บูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษ
บริเวณอุโมงค์ปิยะมิตรมีพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ให้ความร่มรื่น เหมาะแก่การเดินชมธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง
สหายเฒ่าเล่าว่า ทหารฝ่ายรัฐบาล นำโดยพลเอกเชาวลิต จงใจยุทธ ไม่มีวันทำลายล้างอุโมงค์อัศจรรย์แห่งนี้ได้ เพราะทหารฝ่ายตรงข้ามไม่เห็นแม้แต่ควันไฟที่ก่อเพื่อหุงหาอาหาร นอกจากนี้ยังมีวิธีการแยบยลอื่นๆ อีกมากมายนำมาใช้ในการยุทธ สุดท้ายรัฐบาลในยุคนั้นใช้นโยบายแบบพันธมิตรเชื่อมชีวิตด้วยความสัมพันธ์อันดี คือมอบที่ดินให้สหาย จคม. ได้ทำกินคนละ 15 ไร่ ออกมาทำกินแบบผู้บริสุทธิ ไม่มีคดีติดตัว และมีสัญชาติไทยแบบถูกกฏหมาย (เมื่ออยู่ครบ 5 ปี)
ต้นไทรยักษ์ มีป้ายเขียนไว้ว่าอายุเป็นพันปี แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ คืออายุไม่ถึงขนาดนั้น
ธารน้ำจากขุนเขา หนึ่งในมนต์เสน่ห์อุโมงค์ปิยะมิตร
ปัจจุบันอุโมงค์ปิยะมิตรได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เปิดบริการให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.00 - 16.30 น. การท่องเที่ยวอุโมงค์ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มีการติดตั้งไฟฟ้าตลอดแนวอุโมงค์ อากาศภายในเย็นสบายไม่อึดอัด บริเวณทางเข้าสองข้างทางเต็มไปด้วยพรรณไม้นานาพันธุ์ และมีแอ่งน้ำที่ไหลมาจากภูเขา ด้านนอกอุโมงค์ซึ่งเคยเป็นลานฝึกทหารจัดให้มีนิทรรศการแสดงภาพและเรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตในป่า นอกจากนี้ ยังมีเห็ดและยาสมุนไพรจากป่าจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวด้วย
ทางเดินในช่วงสุดท้าย
ภายในอุโมงค์มีการเดินไฟฟ้าเข้าไป เพื่อสะดวกต่อการเที่ยวชมของนักท่องเที่ยว
การเดินทาง
- อุโมงค์ปิยะมิตร ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เข้าทางเดียวกับบ่อน้ำร้อนเบตงและน้ำตกอินทสร อยู่เลยบ่อน้ำร้อนอีก 3 กิโลเมตร