ทัศนียภาพบ้านพักของปลายมางทางรัก
20.30 น. รถทัวร์ปรับอากาศจากสถานีขนส่งหมอชิต พาผมออกจากกรุงเทพฯ ผ่านเส้นทางแฉะชื้น ผมหลับๆ ตื่นๆ กระทั่งมาถึง อ.ปัว จ.น่าน ในช่วงเช้า ขณะก้าวเท้าลงจากรถฝนยังโปรยปรายไม่ขาดสาย แรกกะไว้ในใจว่ามาถึงจะข้ามถนนไปหาอะไรลองท้องในตลาด ทว่าตลาดสดหายไป เหลือแต่โครงสร้าง ไม่มีแม่ค้า ไม่มีใครขาย ตอนนี้มันกลายเป็นตลาดร้างชัดๆ
อาคารห้าเหลี่ยมของโรงแรมปวินท์ศิลป์รีสอร์ต
ไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยกิน เดินเท้าตากฝนไปอีก 500-600 เมตร เข้าไปสู่ร่มเงาที่พักชื่อโรงแรมปวินท์ศิลป์รีสอร์ต โรงแรมนี้เป็นโรงแรมขนาดกลาง ด้านหน้าเป็นอาคาร 6 เหลี่ยม เป็นอาคารห้องอาหารและส่วนต้อนรับตั้งอยู่ริมท้องนา ส่วนอาคารที่พักอยู่ด้านหลัง มี 3 ชั้น ราคาค่าที่พักคืนละ 500 บาท แต่ผมเข้าเร็ว -ออกช้า เขาคิดเพิ่มอีก 250 บาท
ผมแวะกินขนมปังกับผลไม้ที่อาคารด้านหน้า และถือโอกาสพูดคุยกับคุณขวัญ (หนึ่งในเจ้าของและผู้ดูแล) เธอบอกผมว่าฝนตกมาสองวันแล้ว คงตกไปอีกระยะหนึ่ง ผมบอกเธอว่าอยากเช่ามอเตอร์ไซค์คืออยากไปถ่ายภาพวัด หมู่บ้านหัตถกรรม จะเช่าถึงวันพรุ่งนี้ เธอพยักหน้ารับรู้บอกว่าจะจัดการให้ ตอนนี้ให้ผมพักผ่อนตามสะดวก
ท้องนาหน้าโรงแรมปวินท์ศิลป์รีสอร์ต
แบกเป้เข้าห้อง แบกท้องไปวางบนเตียง พลิกไปเอียงมา สรุปว่าหลับยาวไปถึง 10โมงกว่า อาบน้ำเดินลงมาด้านล่าง คุณขวัญแจ้งว่ามอเตอร์ไซค์ได้แล้ว วันละ 200 บาท เจ้าของเติมน้ำมันมาเต็มถัง วันคืนรถก็เติมคืนให้เขา
ผมพามอเตอร์ไซค์ฝ่าฝนไปบนทางแคบ ผ่านท้องนาเขียวชรอุ่มชุ่มชื้น ผ่านวัดปรางค์ออกไปสู่ท้องนาชนบท บริเวณสะพานคอนกรีตมีชาวบ้านสี่ห้าคนยืนพูดคุยกัน ผมจอดรถ เสนอหน้าไปฟังได้ความว่าเขากำลังลุ้นสายน้ำที่ไหลบ่ามารวดเร็ว คือเขาเกรงว่าถ้าฝนยังตกติดต่อกันอย่างนี้อาจทำให้น้ำบ่าเข้านา จะทำให้ข้าวกล้าเกิดความเสียหาย ผมในฐานะนักเดินทางได้แต่เอาใจช่วยเพราะเรื่องธรรมชาตินั้นเกินคาดเดา
จากสะพานผ่านหมู่บ้านกระทั่งมาถึงวัดต้นแหลง วัดนี้มีดีตรงอุโบสถ คือโบสถ์หลังนี้เป็นโบสถ์เก่าแก่ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยลื้อ หลังคาโบสถ์มุงด้วยแป้นเกล็ด 3 ชั้น แม้ไม่ใหญ่โตแต่ลักษณะอันโดดเด่นทำให้โบสถ์แห่งนี้มีคุณค่าน่ามอง น่าศรัททธา เสียดายผมไม่ได้เข้าไปกราบพระประธานด้านในเพราะคนถือกุญแจไม่อยู่
อุโบสถวัดต้นแหลง
หลังชื่นชมอุโบสถได้เพียงครู่ สายฝนเริ่มหนักขึ้นเป็นลำดับ ต้องขยับขับเคลื่อนมอเตอร์ไซค์กลับสู่ที่พัก กลับไปตั้งหลักและรอคอย
บ่ายโมงกว่าๆ ฝนซา ออกไปหาอะไรกินด้วยการพึ่งก๋วยเตี๋ยวริมถนน ไม่น่าเชื่ออร่อยใช้ได้ พาให้ร่างกายมีเรี่ยวแรงในการขับขี่รถไปตามเส้นทางสายแคบ ผมลัดเลาะไปที่บ้านเฮี้ย หมู่บ้านที่ตัดแต่งทักทอผ้าฝ้ายสไตล์ไทยลื้อ
ผ้าทอไทลื้อ
ที่บ้านเฮี้ย ต.ศิลาแลง มีศูนย์กลางการทอผ้าอยู่ที่ศูนย์หัตถกรรมแพวผ้าฝ้าย ผ้าทอที่นี่มีหลายรูปแบบ ทั้งการทอลายแบบไทยลื้อโบราณและลายแบบประยุกต์ มีทั้งผ้าซิ่น ผ้าผืนสำหรับตัดชุด และชุดเสื้อผ้ากระโปรงสำเร็จ นับเป็นศูนย์หัตถกรรมที่มีการจัดการที่ดีเพราะบริหารงานในลักษณะสหกรณ์
ทัศนียภาพท้องนาบ้านฝาย
จากหมู่บ้านหัตถกรรม ผมขี่มอเตอร์ไซค์ไปเรื่อยเปื่อยแบบไร้จุดหมาย กระทั่งลึกเข้าไปถึงบ้านฝาย หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา ที่นี่ไม่มีเรื่องราวใดๆ ให้ตามหานอกจากความงามของท้องนาในหุบเขา ผมจอดรถบันทึกภาพนากลางขุนเขา บันทึกขุนเขากลางสายหมอก บันทึกสายหมอกกลางผืนฟ้ากว้าง เพลิดเพลินเจริญใจถ่ายเท่าไรไม่รู้จักเบื่อไม่รู้จักพอจนเวลาล่วงเลยไปถึงช่วงเย็นจึงจากลาในที่สุด
ยามเย็นก่อนค่ำ ท้องร้องฟ้องว่าหิว ผมวนเวียนไปที่หน้าร้านสะดวกซื้อ ปรากฏว่ามีร้านขายข้าวหมูแดงหมูกรอบ มีร้านขายโรตี ร้ายขายลูกชิ้นปิ้งย่าง ไม่มีอะไรให้เลือกมากไปกว่านั้น สรุปว่าข้าวหมูแดง+หมูกรอบคือตัวเลือกที่ต้องเลือก เป็นข้าวหมูแดงที่รสชาติใช้ได้ ไม่ถึงกับเลิสเลอแต่โอเค ผ่านครับ
นกนางแอ่นเมืองปัว ยามเย็นมาเริงเล่น
ก่อนข้าวหมดจาน ก่อนแสงแห่งวันจะลับหาย มีนกนางแอ่นจำนวนมากขยับปีกบินเต็มท้องฟ้า พวกมันบินสวนกันไปสวนกันมาราวเฉลิมฉลองอะไรซักอย่าง คำนวนด้วยสายตาผมว่ามีเป็นพันตัวหรือเหยียบหมื่น เจ้าของร้านขายข้าวหมูแดงบอกว่าเมื่อก่อนมันเป็นนกอพยพพบในช่วงปลายฤดูฝน+หนาว แต่ตอนหลังไม่เห็นมันไปไหน กลายเป็นนกประจำถิ่นไปแล้ว เขาบอกอีกว่ามันสร้างความรำคาญด้วยการปล่อยขี้ลงมา แต่ทั้งนี้ผมมองอีกมุมหนึ่งว่านี่คือปรากฏการณ์ที่นำไปสู่การเชิญชวนให้คนมาดูชวนให้คนมาเที่ยว เพราะที่ว่ามันร้าย (เรื่องขี้) มันร้ายไม่นาน พอฟ้ามืดพวกมันก็หายไป
หลังอิ่มท้องผมขี่รถไปที่ร้าน SEEDS ร้านนี้เป็นร้านกึ่งผับ คือกลางวันเปิดเป็นร้านกาแฟ+เบอร์เกอรรี่ กลางคืนเปิดเป้นร้านอาหาร ที่บอกว่ากึ่งผับเพราะมีดนตรีสดเล่น เป็นการเล่นแบบโฟล์ค เสียงบางเบาพองามไม่ทำลายบรรยากาศเมืองกลางขุนเขา
ทัศนียภาพภายใน SEEDS
เค้กกับเครื่องดื่มของ SEEDS
ผมนั่งอยู่ประมาณชั่วโมงจึงจากลาเพราะทำท่าว่าฝนจะมาเยือนในไม่ช้า แล้วก็เป็นยังงั้น ขี่รถกลับยังไม่ถึงโรงแรมฝนเย็นฉ่ำจากฟากฟ้าร่วงลงมาราวฟ้ารั่ว เป็นอันว่าเปียกปอนไปตามระเบียบ
ดอกพุทธรักษาชิมน้ำจากฟ้าจนอิ่มเอม
รุ่งสางสร่างฝน ราตรีแห่งความชุ่มชื้นผ่านพ้นไป ชาร้อนกับขนมปังปิ้ง กล้วยน้ำว้ากับลองกองคืออาหารมื้อเช้า วันนี้ผมมีแผนสั้นๆ คือช่วงเช้าไปตลาด (ย้ายไปอยู่ข้างสนามกีฬา แค่ชั่วคราว) ไปวัดภูเก็ต จากนั้นอำลาเมืองปัวเพื่อไปตามหาบ่อเกลือบนภูสูง
สายหมอกยามเช้าปกคลุมขุนเขาเมืองปัว
ตลาดเช้าย้ายมาชั่วคราว รอเขาปรับปรุงโครงสร้างตลาด จะเสร็จและย้ายกลับไปที่เดิมเมื่อไหร่ยังไม่มีใครทราบ นอกจากรอคอยไปพลางๆ ผมหวังว่ามันจะเสร็จทันฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง แต่ดูท่าทีแล้วริบหรี่เหลือเกิน
วัดภูเก็ต
วัดภูเก็ตเป็นวัดขนาดใหญ่ สงบเงียบสะอาดสะอ้าน ตั้งอยู่บนเนินเขา จุดที่ทำให้คนมาเยือนวัดแห่งนี้นอกจากเรื่องเกี่ยวศาสนายังมีจุดชมวิวที่น่าสนใจมากที่สุดจุดหนึ่ง คือด้วยวัดอยู่บนเนินสูงจึงมองเห็นทิวทัศน์ท้องนาในหุบเขาได้กว้างไกล เป็นจุดถ่ายภาพที่ดีมากครับ
ทัศนียภาพท้องนา บันทึกจากจุดชมวิววัดภูเก็ต
สายหมอกปกคลุมเส้นทางกลางป่า
เที่ยงตรง ผมลาคุณขวัญกับสามี (เจ้าของโรงแรมปวินทร์ศิลป์) โดยเหมารถสองแถวของลุงเจตน์ในราคา 800 บาทเพื่อให้แกไปส่งที่อำเภอบ่อเกลือซึ่งอยู่ห่างจากเมืองปัวประมาณ 50 กิโลเมตร ใครบางคนอาจมีคำถามว่า "ทำไมค่ารถแพงจัง แค่ใกล้ๆ" ครับระยะทางใกล้แต่เหมือนไกลเพราะต้องแล่นไปบนถนนลอยฟ้า ผ่านความคดโค้งและสูงชัน ถนนหลายช่วงแคบ ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้เชี่ยวชาญในการขับขี่เท่านั้น ส่วนผู้ที่คิดจะขี่มอเอตร์ไซค์ขึ้นไปขอแนะนำว่าควรเป็นมือเซียนเท่านั้น ถ้ามือไม่ถึงอย่าเสี่ยงครับ
เส้นทางคดโค้งงดงามระหว่างเมืองปัวไปอ.บ่อเกลือ
ระหว่างทางมีหมู่บ้านขนาดเล็กกับร้านขายของริมทางปรากฏอยู่บางช่วง ในบางช่วงมองเห็นขุนเขาเรียงรายสลับซับซ้อนไกลสุดตา ภูเขาที่เห็นมีทั้งที่สมบูรณ์ด้วยป่าไม้แน่นหนา และโล้นเลี่ยนด้วยถูกบุกรุก
มีเรื่องที่ผมไม่เข้าใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องป่าที่ถูกบุกรุก ใครตัดป่า? ไม้หายไปไหน? ไม้มหาศาลหายไปแบบไร้ร่องรอย เตียนโล่งราวถูกสาบจากซาตาน ป่านะครับไม่ใช่ไม้จิ้มฟันจะได้ขนกันง่ายๆ ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจไม่มีทาง (ผมเชื่อเช่นนั้น) และเชื่ออีกว่าเราสามารถจัดการกับคนรุกป่าได้ วันนี้ป่ากลายเป็นไร่เลื่อนลอย ถ้าต้องจับหรือพิสูจน์ เจ้าหน้าที่ต้องจับคนที่ยึดครองที่ดินก่อนครับ จู่ๆ มาถือครองได้ไง คิดเรื่องนี้ทีไรเหนื่อยใจทุกที
ลานดูดาวในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
ส่วนป่าที่สมบูรณ์ในเขตอำเภอบ่อเกลือคือป่าอุทยานแห่งชาติดอยภูคากับอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ถ้าไม่มีป่าอุทยานสองผืนใหญ่นี้เชื่อว่าไม่คงไม่มีไม้เหลือ (เรื่องนี้น่ายินดีกับคนไทย คนน่าน และคนบ่อเกลือ) สำหรับนักท่องเที่ยวสามารถนอนพักค้างแรมที่อุทยานทั้งสองแห่งได้โดยสะดวก (ปฏิบัติตามกติกาของอุทยานฯ)
อุทยานแห่งชาติดอยภูคาถึงก่อนอำเภอบ่อเกลือ ส่วนอุทยานแห่งชาติขุนน่านเลยบ่อเกลือไปประมาณ 6 กิโลเมตร
สำหรับการเดินทางครั้งนี้ลุงเจตน์พาผมแวะถ่ายภาพบนดอยสองสามจุด จุดแรกบริเวณลานดูดาวของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา แต่ว่าจุดชมวิวตรงนี้มองไม่เห็นอะไรเลยเพราะหมอกขาวโพลนปกคลุมเต็มไปหมด ขาวแบบฟ้าปิดมองไม่เห็นแม้ใบไม้ซักใบ
อีกจุดหนึ่งคือจุดชมวิว 1715 ตรงนี้มองเห็นทัศนียภาพขุนเขางามตา ผืนฟ้างามใจ เห็นหลังคาบ้านในอำเภอบ่อเกลืออยู่ไกลลิบเบื้องล่าง แสดงให้รู้ว่าใกล้ถึงปลายทางแล้ว
อำเภอบ่อเกลือในหุบเขา
เนื่องจากระหว่างทางมีฝนตกเป็นช่วงๆ ลุงเจตน์พาผมมาถึงอำเภอบ่อเกลือในช่วงบ่าย ผมหิวโซจึงบอกให้ลุงเจต์พาไปหาร้านกินข้าว ปรากฏว่าหลายร้านปิด ก็เลยแวะเข้าไปกินที่ร้านกลิ่นไอเกลือ ร้านนี้ดีไซน์ดี ส่วนอาหารรสดีใช้ได้ แต่ราคา (บางอย่าง) ค่อนข้างสูงไปนิด ผัดเห็ดกูดเป็นเมนูที่ทางร้านแนะนำ (ผมแนะนำต่อ ถ้านักเดินทางผ่านไปชิมบอกให้ทางร้านผัดแค่สะดุ้งน้ำมันพอแล้ว อย่าผัดนาน จะอร่อยมากครับ)
จบจากร้านกลิ่นไอเกลือผมแวะเข้ามาสู่บ่อเกลือที่ตามหา หลายคนคงเคยไดยินเรื่องเกลือสินเธาว์บนภูเขา ผมไม่รู้ว่าเกลือสินเธาว์บนภูเขามีที่อื่นอีกหรือไม่แต่ในไทยเท่าที่รู้ก็มีที่นี่ที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักที่เดียว ทั้งยังน่าอัศจรรย์ตรงที่การวิเคราะห์วิจัยของนักวิชาการด้านธรณีวิทยาบอกว่าภูเขาแห่งนี้เคยเป็นทะเลมาก่อนดังนั้นสายแร่หรือเกลือที่อยู่ใต้ดินนั้นมีมานานแล้ว สำหรับกรรมวิธีในการทำเกลือเขาเอาน้ำจากบ่อมาต้ม (เมื่อก่อนมี 9 บ่อ ตอนนี้เหลือ 2 บ่อ) ให้น้ำระเหยหายกลายเป็นเกลือ โดยมีการนำเกลือมาคั่วไล่ความชื้นอีกทีหนึ่ง
บ่อเกลือ
วันที่ผมไปถึงเป็นช่วงเข้าพรรษา ตามประเพณีโบราณของชาวบ่อเกลือห้ามต้มเกลือในช่วงนี้ ดังนั้นจึงไม่ได้ดูวิธีการต้ม แต่โชคดียังมีคนมาคั่วเกลือ ก็เลยได้พูดคุยกันในฐานะผู้มาเยือนกับเจ้าบ้าน
เตาต้มเกลือ
บ้านพัก (บ่อเกลือฆ้องดัง)
เสร็จจากการพูดคุยกับคนคั่วเกลือ ลุงเจตน์พามาส่งที่บ่อเกลือฆ้องดัง ที่พักขนาดเล็กที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน คือมีห้องพักเพียง 5 ห้อง แต่ทั้งนี้เป็นห้องที่กว้างขวางอยู่สบาย มีเน็ต แอร์คอนดิชั่น น้ำอุ่น กาแฟขนมปัง (ช่วงเช้า) ราคาคืนละ 600 บาท ตอนที่ผมไปถึงฝนตกไฟดับออกไปไหนไม่ได้ ไม่มีสัญญาณใดๆ ก็เลยนั่งโหลดรูปลงคอมพ์พร้อมกับหลับไปหนึ่งงีบ ก่อนถูกปลุกด้วยนกน้อย คือเจ้านกปรอดหัวจุกฝูงใหญ่ส่งเสียงเจี้ยวจ๊าวเต็มไปหมด ส่วนนกกินปลีอกเหลืองบินมาเกาะต้นตะขบ มันเมียงมองมาที่ระเบียงห้อง มองหน้าผมสลับกับความหวาดระแวงอยู่ครู่หนึ่งจึงบินจากไป
นกกินปลีอกเหลือง
ร้านเตาเกลือ
ราตรีนี้ไม่มีอะไรมาก เพราะในหุบเหวไกลโพ้นไม่มีสถานเริงรมย์ ดังนั้นจึงเหมาะกับการนอนดื่มฝนบนฟูกนุ่มหนา นอนฟังกบนอกกะลาส่งภาษาสรรค์จวบจนรุ่งสาง
รุ่งเช้า ฝนหยาดขาดเม็ด คนพเนจรแบกกล้องผ่านโรงเรียนไปที่นาข้าว เดินผ่านนาข้าวเข้าไปที่ริมน้ำ น้ำสายนี้รินไหลรุนเแรงเพราะสายฝนร่วงหล่นบนขุนเขา น้ำสายนี้ถูกเรียกว่า "น้ำมาง" น้ำมางเป็นต้นน้ำสายหนึ่งของแม่น้ำน่าน แม่น้ำน่านเป็นต้นน้ำสายหนึ่งของเจ้าพระยา หากกล่าวว่าน้ำมางคือหนึ่งในต้นเจ้าพระยาคงไม่ผิดนัก
ผืนนากับสายหมอกที่เมืองเกลือ
สะพานแขวนข้ามน้ำมาง
บนทึกภาพม่านหมอก เก็บคัดลอกภาพท้องนา แกว่งเท้ามาตามร่องธารา เดินตามหารอยประทับใจ หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ เพราะความจริงรอยเหล่านั้นมันสิงหัวใจไปแล้ว
วัดบ้านบ่อหลวง
ผมเดินมาตามทางแคบเล็กผ่านวัดบ้านบ่อหลวง ผ่านร้านกาแฟ ผ่านร้านอาหารที่ปิดเงียบราวเมืองร้าง เดินมาถึงบ่อเกลือยังไม่เจอร้านอาหาร ผมเดินย้อนกลับไป โชคดีมีร้านก๋วยเตี๋ยว+ข้าวซอยใกล้ๆ วัดเปิดอยู่ร้านหนึ่ง แรกที่เดียวไม่หวังว่าได้พบรสชาติเลิศเลอ เพราะเป็นร้านแบบบ้านๆ ทว่าเมื่อได้ลิ้มชิมรสข้าวซอยไก่กลับพบว่าอร่อย อร่อยแบบเหวอเลย เฮ้ย เจอได้ไงว่ะเนี่ย 30 บาทดีโคตร
ข้าวซอยรสเด็ด
ทางเดินก่อนถึงปลายมางทางรัก
ปลายมางทางรัก
มีใครหลายคนเคยบอกผมว่าถ้ามาบ่อเกลือให้มานอนที่ปายมางทางรัก ที่นี่มีบ้านพักสองแบบ คือมีบ้านหลากสีหลังเล็กกับตู้คอนเทนเนอร์สีสวย บอกตัวเองว่าโอกาสหน้่าจะมาใหม่ ถ้าแม้นไม่ตายคงได้พบกัน
การเดินทางมาเยือนเมืองเกลือสิ้นสุดลงตรงเที่ยงวัน ลุงเจตน์ขับรถกสองแถวคันเดิมมารับ ขากลับไม่ได้เหมาแต่เสียค่ารถไป 100 บาท ขากลับมีเพื่อนร่วมทางเป็นสาวไทยมุสลิม 4 คน เดาว่าอายุยังไม่เกิน 25 ปี พวกเธอแบกเป้มาจากชายแดนไทยลาวหลังจากไปเที่ยวมาหลายวัน
สายหมอกกับผืนป่าอุดมที่อำเภอบ่อเกลือ
การเดินทางกับวันเวลาเพียงน้อยนิดสิ้นสุดลง ผมสัญญากับตัวเองว่าในเร็ววันนี้จะย้อนกลับมาใหม่ เอาไว้ให้ข้าวตกรวง ฝนล่วงเลยฤดูกาล จะกลับมาสืบสานตำนานป่า พาพรรคพวกมาสอยดาวพราวฟ้า มาตามหาความหนาวเย็น ขอบคุณผืนป่า ขอบคุณสายฝนแน่นหนาในคืนเดียวดาย ขอบคุณเมืองปัว ขอบคุณเมืองบ่อเกลือ ขอบคุณทุกคน ขอบคุณ ขอบคุณ
น้ำตกสปัน (ก็อปปี้ภาพจากร้านกลิ่นไอเกลือ)
หมายเหตุ- นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมด บ่อเกลือยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายโดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติภูคาและอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้และนิยมไปเที่ยวคือน้ำตกสปัน
- ช่วงฤดูท่องเที่ยวจะเริ่มตั้งแต่ปลายตุลาคม-มกราคม ช่วงนั้นนักท่องเที่ยวเยอะ ใครเดินทางในช่วงนั้นควรสำรองที่พักล่วงหน้าเพราะที่พักมีไม่มากนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น