วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558

กอดบางกอก กราบนางเลิ้ง

เช้าวันเสาร์ที่ 12 กันยายน 58 ผมกับเพื่อนนัดกันไปกอดบางกอก ครั้งนี้เรานัดกันแถวๆ ถนนพิษณุโลก (ลานพระบรมรูปทรงม้า) เพื่อเข้าชมวังปารุสกวัน กราบสักการะศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่พาณิชย์พระนคร กินข้าวเที่ยงและศึกษาชุมชนนางเลิ้ง จากนั้นล่องเรือคลองผดุงกรุงเกษม ปิดทริปการกอดกรุงเทพฯ ที่วัดเทพศิรินทราวาส แต่ในที่นี้ขอพูดถึงชุมชนนางเลิ้งเพียงอย่างเดียว สำหรับในส่วนอื่นจะนำมาเสนอในภายหลังครับ


ว่ากันว่าชุมชนนางเลิ้งเคยชื่อ “อีเลิ้ง” ต่อมาทางการเขาเห็นว่า “อี” ไม่สุภาพก็เลยเปลี่ยนเป็น “นาง” 
จะเป็นอีเลิ้งหรือนางเลิ้งสำหรับผมไม่สลักสำคัญเพราะสุดท้ายมันก็แปลว่า “ตุ่ม” หรือ “โอ่ง” อยู่ดี 



โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมธานี ความวิไลในอดีต วันนี้ชราภาพ รอคอยการปรับปรุง



อาคารตึกแถวริมถนนนครสวรรค์


ประตูบ้านในชุมชนนางเลิ้ง


ลีลาละครชาตรี (การแสดงสาธิต)

ชุมชนคนนางเลิ้งเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ยุคกลางรัตนโกสินทร์ (เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5) เจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูมากในช่วงกลางลงมา ส่วนนางเลิ้งปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปบ้างเพียงเล็กน้อย ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นคนจีน คนมอญ คนไทย ในอดีตนางเลิ้งเคยเป็นศูนย์กลางการค้าขาย โดยเฉพาะอาหารการกินนั้นโด่งดังพอสมควร ส่วนชื่ออีเลิ้งมาจากภาษามอญ ซึ่งมีคนมอญล่องเรือมาขายโอ่งและอยู่อาศัยในย่านนี้


อุโบสถวัดแคนางเลิ้งหรือวัดสุนทรธรรมทาน


ที่เก็บอัฐิคุณมิตรชัย บัญชา ในวัดแคนางเลิ้ง

ความจริงคนกรุงเทพฯ รุ่นก่อนรวมถึงคนรุ่นนี้บางส่วนรู้จักนางเลิ้งกันดีอยู่แล้ว ที่รู้จักดีอาจเป็นเพราะเหตุผลหลายประการ ผมเดาว่าอาหารเด่น ขนมอร่อย มีโรงภาพยนตร์เก่าแก่ที่ยังคงสภาพไว้ให้ดูต่างหน้า มีคนดีช่วยกันดูแล ช่วยกันพยุงชุมชนให้คงสภาพนางเลิ้งไว้เหมือนเก่าก่อน มีบ้านเรือนแถวหรืออาคารพาณิชย์สองชั้นในยุครัชกาลที่ 5 มีนางเอกละครชาตรียุคเก่าขับร้องทำนองร่าย มีคลองผดุงกรุงเกษม มีการส่งเสริมให้ก่อเกิดศิลปะ ที่สำคัญทุกคนพยายามเปลี่ยนความเป็นสลัมในชุมชนให้เป็นบ้านที่น่าอยู่น่าอาศัยและพึงใจเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน ที่กล่าวมาอาจมีตกหล่นแต่เชื่อว่าทั้งหมดนั้นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชุมชนนางเลิ้งคงอยู่ ทำให้นางเลิ้งมีคนแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ


ทางเข้าตลาดนางเลิ้งจากฝั่งถนนนครสวรรค์


กระเพาะปลาน้ำแดง+บะหมี่ปูหมูแดงจากร้าน ส.รุ่งโรจน์





ขนมถ้วยตะไล มณฑา ขนมถ้วยยอดนิยมในตลาดนางเลิ้ง


กระเพาะปลาแบบเรียบง่าย หากไปร้านใหญ่แล้วเต็ม ร้านเล็กภายในตลาดใช้ได้เลยครับ

สำหรับผมนางเลิ้งอาจแตกต่างจากสายตานักท่องเที่ยวคนอื่น คือตอนเป็นเด็ก ช่วงปิดเทอมแม่ส่งผมมาอยู่กับตาที่บางกระเจ้า (พระประแดง) หรืออยู่กับยายที่คลองสอง (ลาดกระบัง) ยายคนเล็กสุดชื่อบุญชิต ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา เป็นสาวโสด ไม่มีสามี ไม่มีลูก (ไม่มีผัวจะมีลูกได้ไงวะ) แกก็เลยติดหลาน ไปไหนเอาผมไปด้วย ช่วงปิดเทอมถ้าผมจำเป็นต้องมาอยู่กรุงเทพฯ ยายชิตเป็นคนกะเตงผมไปโน่นนี่ นอนบ้านลาดกระบังบ้าง นอนบางกะเจ้าบ้าง (แล้วแต่ยาย)


ยายอารีย์ (ผู้ชี้บ้าน) กำลังขายหมู

มีอยู่สองครั้ง ยายชิตพาผมมานอนหลังตลาดนางเลิ้ง มานอนบ้านยายตุ๊ บ้านยายตุ๊เป็นบ้านผลิตพริกแกง พวกแกงเขียว แกงแดง แกงเหลือง และสารพัดแกง พริกแกงที่แกผลิตออกมาขายมีทั้งขายสดแบบนอนอยู่ในกะละมังและมีแบบสำเร็จรูปแพคถุงพลาสติก  ณ ตอนนั้นน้ำพริกสำเร็จรูปยายตุ๊ดังมาก ใครๆ ก็มาซื้อ รวมทั้งส่งไปขายอเมริกาด้วย เท่าที่จำได้ไม่มีน้ำพริกเจ้าอื่น แม่ประนอมยังไม่มีหรือมีแล้วแต่ไม่ดังก็ไม่รู้ 

ยายชิตพาผมมานอนบ้านนางเลิ้งเพราะยายเป็นคนมีฝีมือเรื่องทำกับข้าว พอคนที่บ้านนางเลิ้งขาดหายยายชิตจะมาช่วย ช่วยควบคุมดูแลการผลิต ซึ่งผมไม่ชอบมาที่นี่เพราะผมเหม็นพริกบด เหม็นหอมกระเทียม เหม็นเครื่องเทศ เหม็นไปสารพัด ยายชิตก็ชอบจัดให้ผมมาบ้านนี้จัง


ภายในตลาดมีศาลกรมหลวงชุมพร ฯ ยกพื้นสูงจากระนาบพื้น เป็นที่เคารพนับถือของชาวนางเลิ้ง


เสี้ยวสีสัน ถึงวันหลีกหนีจากความเป็นสลัมในอดีต



ที่บ้านนางเลิ้ง นอกจากยายชิตผมจำใครไม่ค่อยได้นอกจากป้านา (ลูกยายตุ๊) แหม่ม (ลูกป้านา) และยายนาค (อยู่คนละบ้าน อยู่บ้านห้องแถวในตลาด) ผมค่อนข้างชอบยายตุ๊เพราะตัวอ้วนใหญ่ใจ นักเลง ยายตุ๊เสียงดังโผงผาง ที่น่ารักที่สุดคือชอบดูมวย โดยเฉพาะมวยสากล นักมวยคนโปรดคือมูฮาหมัดอาลี อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮพวี่เวท ผมชอบดูแกเชียร์จากจอโทรทัศน์บนแผงขายน้ำพริกในตลาด แกเชียร์ได้รสชาติมวยขนานแท้ ส่วนป้านาเป็นคนเนี๊ยบ มีระเบียบ เรียบตั้งแต่แต่ทรงผม เครื่องแต่งกาย ยันรองเท้า เป็นคนสวยที่ดุ ผมก็เลยกลัวป้านามากกว่ายายตุ๊ ชอบใกล้ยายตุ๊มากกว่าป้านา


กล้วยทอดเอี๊ยมม่วง ขนมขึ้นชื่อที่ควรลอง

ตั้งแต่ยายชิตจากโลกไปนานหลายสิบปีผมไม่เคยโผล่หน้าไปบ้านนางเลิ้งเลย แต่พอจะได้ข่าวว่ายายตุ๊ตามยายชิตไปติดๆ ส่วนป้านายังมีชีวิตอยู่ วันนี้ (12 กันยายน 2558) ผมสะพายกล้องท่องกรุงเทพฯ ด้วยการกลับไปกอดนางเลิ้ง ขณะเพื่อนสั่งอาหารมื้อเที่ยงผมเดินลัดเลาะไปตามซอกซอย พยายามทบทวนความจำเพื่อหาบ้าน แต่จนแล้วจนรอดหาไม่เจอ ก็เลยอาศัยถามจากผู้เฒ่าท่านหนึ่งชื่อ "ยายอารีย์"


เคาน์เตอร์กาแฟในบ้านนางเลิ้ง (ไม่ใช่บ้านนางเลิ้งที่ผมเคยนอน แต่เป็นบ้านสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว)

“สวัสดีครับยาย” ผมทักทายด้วยการยกมือไหว้และกล่าวสวัสดี
ยายอารีย์รับไหว้ ทำหน้างงๆ

"ยายครับผมเป็นหลานยายตุ๊ หลานป้านา ผมจะมาเยี่ยมแต่หาบ้านไม่เจอ รบกวนช่วยบอกทางหน่อยครับ”

“อ่อ เหรอ ยายตุ๊ตายไปนานแล้ว ไอ้แหม่มก็ตาย ยายนายังอยู่ บ้านอยู่ทางนี้...” แกบอกพร้อมกับชี้ทาง

“ขอบคุณครับยาย เอ่อ ยายชื่ออะไรครับ” ผมถามด้วยอยากรู้


“ยายชื่ออารีย์ ไปรีบไป เดี๋ยวเขาจะไม่อยู่ เห็นว่าต้องไปโรงพยาบาล” แกบอกเสียงเบาๆ


มุมพักผ่อนในบ้านนางเลิ้ง 


ไอเดียเล็กๆ จากบ้านนางเลิ้ง

ผมยกมื้อไหว้ยายอารีย์อีกครั้งก่อนหันหลังจากมา เดินมานิดเดียวกำลังจะเลี้ยวเข้าซอยได้พบชายวัยใกล้หกสิบคนหนึ่งเข็นรถเข็นออกมาจากซอย บนรถเข็นมีหญิงชราผมขาวโพลนนั่งอยู่บนนั้น ผมยืนดักหน้า รถเข็นหยุดล้อ ผมยกมือไหว้พร้อมกับแนะนำตัวสั้นๆ ว่า "ผมมามาเยี่ยมป้านาครับ"

หญิงชรามองหน้า เพิ่งพิศ ถามที่มาที่ไป ฟัง นิ่ง ตรึกตรอง ทวนความจำ “อืม พวกคลองสอง พวกบางกระเจ้า” 

สุดท้ายแกถามผมว่า “แล้วเธอรู้ไหมฉันเป็นใคร”

ผมยิ้ม ตอบสั้นๆ “รู้ครับ..ป้านา”


แกยิ้มตอบ ก่อนบอกว่า "จำเก่ง แต่ฉันจำเธอไม่ได้ เอางี้ วันหลังมาใหม่ วันนี้ฉันต้องรีบไปโรงพยาบาล"



ความต่างระหว่างอาคารสองยุค

ผมยกมือไหว้ หลีกทางให้รถเข็น ป้านาไปทางหนึ่ง ผมย้อนมาอีกทางหนึ่ง บอกตัวเองว่าเท่านี้ก็ดีแล้ว เราเป็นเด็ก กลับมาถึงถิ่นได้กราบไหว้ผู้สูงวัยที่เราเคยอาศัยกินอาศัยนอนถือว่าดีแล้ว 

จากนั้นผมเดินไปตามซอกซอย ออกจากซอยนั้นโผล่ซอยนี้ ออกจากโรงหนังไปที่วัดแค ไปกราบไหว้ดวงวิญญาณพระเอกตลอดกาล “มิตร ชัยบัญชา” แล้วลานางเลิ้งด้วยเสียงเพลงไพเราะจากนางละครชาตรีภายใต้ร่มพันธุ์พฤกษา จากลานางเลิ้งด้วยรอยยิ้มในรอยทรงจำ  เป็นอีกครั้งที่รู้สึกสบายใจ กอดบางกอกเที่ยวนี้แปลกดี มีเรื่องราวที่แปลกออกไปจากชีวิตการเดินทางเดิมๆ ครับ 


จักรยานคันเล็กบนทางเท้าริมถนนหลานหลวง


รอบชุมชนมีป้ายนิเทศน์บ่งบอกถึงเรื่องราวที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 
เช่น ป้ายที่ใช้ชื่อว่า "ใบแจ้งความ"

................................................................................................................

หมายเหตุ
- ชุมชนนางเลิ้งถือกำเนิดในช่วงทศวรรษ 2430-2440
- ตัวชุมชนมีลักษณะคล้ายๆ สี่เหลี่ยมคางหมู (แคบสอบไปทางด้านตะวันตก) ด้านเหนือติดถนนนครสวรรค์ ด้านตะวันออกติดถนนกรุงเกษม (+คลองผดุงกรุงเกษม) ด้านใต้ติดถนนหลานหลวง ด้านตะวันตกติดถนนเล็กๆ ที่ขั้นระหว่างชุมชนกับสถานีตำรวจนางเลิ้ง
- การไปเที่ยวชุนชนนางเลิ้งควรไปช่วงเช้าเพราะตลาดคึกคักกว่าช่วงบ่าย
- ร้านอาหารขนาดใหญ่ในชุมชนมี 2 ร้าน คือร้านรุ่งเรืองกับร้าน ส.รุ่งโรจน์ ทั้งสองร้านมีเมนูคล้ายกัน เช่น เป็ดย่าง เป็ดพะโล้ หมูอบ บะหมี่ปูหมูแดง กระเพาะปลาน้ำแดง เป็นต้น ถ้าไม่อยากนั่งร้านใหญ่เข้าไปในตลาดจะพบร้านอาหารจำนวนมากพอสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น