วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วนอุทยานน้ำตกผาหลวง อุบลราชธานี ทุ่งดอกไม้ปลายฝน (18 เฟรม)


                                                ดงดอกกฐินทุ่งหรือหญ้าบัว

ปีนี้ฝนน้อย ตกช้า ขาดช่วง จบเร็ว มีหลายเรื่องน่าเป็นห่วง เช่น น้ำไม่พอใช้ในการทำนาปรังหรือการเกษตรบางประเภท ทั้งยังมีผลกระทบมาถึงคนเมืองด้วย ส่วนการท่องเที่ยวก็หนีควันความแห้งแล้งไม่พ้น น้ำตกอาจขาดสาย ดอกไม้อาจไม่บาน หรือถ้าบานคงน้อยเต็มที จากตรงนี้มีคำถามว่าดอกไม้อะไรทำไมต้องพึ่งฝนมากมาย ผมกำลังหมายถึงทุ่งดอกไม้บนผลาญหินแห่งเมืองอุบลฯ หรือในหลายพื้นที่ๆ มีสภาพภูมิประเทศเป็นลานหินกับดินทราย โดยเฉพาะที่เมืองอุบลฯ นั้นมีชื่อเสียงเกี่ยวกับทุ่งดอกไม้ฤดูเดียวเป็นที่สุด


                แม่น้ำโขงกับขุนเขาในฝั่งลาว บันทึกภาพที่ผาชนะได อุทยานแห่งชาติผาแต้ม



ดงดอกไม้ที่น้ำตกสร้อยสวรรค์ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

ทุ่งดอกไม้เมืองอุบลฯ ถือเป็นทุ่งที่กว้างใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย คือมีดอกไม้ขนาดเล็กผลิบานอยู่บนทุ่งกว้างตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตั้งแต่บ้านผาชันยันอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมือง ส่วนทุ่งดอกไม้ที่รู้จักกันดีคือทุ่งดอกไม้ที่ผาชนะได ป่าดงนาทาม อุทยานแห่งชาติผาแต้ม รวมถึงที่วนอุทยานน้ำตกผาหลวงซึ่งเป็นแหล่งดอกไม้เหนือทุ่งราบบนขุนเขาที่กว้างใหญ่ ถ้าสำรวจให้ดีที่นี่อาจเป็นที่ราบบนภูเขาที่กว้างใหญ่ที่สุดของเมืองอุบลฯ ก็เป็นได้


น้ำตกสร้อยสวรรค์

 สำหรับดอกไม้ที่พบบนพลาญหินดังกล่าวมี ดอกดุสิตา สร้อยสุรรณา มณีเทวา (กระดุมเงิน) จอกบ่วาย หยาดน้ำค้าง (ดอกไม้กินแมลง) รวมถึงไม้ขนาดเล็กชนิดอื่นๆ อีกมากมาย ไม่เว้นกล้วยไม้ดินบางชนิดก็ชูช่อล้อสายลมหนาวด้วยเช่นกัน 


ดงดอกไม้ฤดูเดียวบางจุดมีดอกไม้หลายชนิดชูช่ออยู่รวมกัน

การที่ดอกไม้ฤดูเดียวเหล่านี้ต้องการฝนแต่ไม่ออกดอกในช่วงต้นและกลางฝนเพราะเป็นพืชใต้ดินที่ต้องการน้ำขังซักระยะหนึ่ง เราจึงมีโอกาสพบเห็นดอกไม้เหล่านี้ในช่วงปลายฝนต้นหนาวเท่านั้น


ดอกจอกบ่วาย" เจริญเติบโตบนแผ่นหิน เป็นดอกไม้โบราณชนิดกินสัตว์ 
คือกินแมลง เป็นดอกไม้ขนาดเล็ก 
ต้องสังเกตอย่างถี่ถ้วนจึงพบ 
มันเป็นดอกไม้ในห่วงโซ่อาหารที่ชัดเจน (จำกัดและกำจัดจำนวนแมลง)


                                                       ดอกหญ้าไก่โอก


                                                        
                                                 ไม้เลื้อยบนผืนทราย 

ในแต่ละปีอาจมีดอกไม้เบ่งบานมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ไม่เคยปรากฏว่าไม่บาน ต้นหนาวนี้จึงการันตีได้ว่าเราจะเห็นดอกไม้เหล่านี้บนแผ่นดินเมืองอุบลฯ อีกครั้ง ส่วนใครจะสะดวกไปสัมผัสในพื้นที่ใดอันนี้แล้วแต่ความพึงพอใจ ทว่าถ้าเป็นไปได้อยากให้ลองไปวนอุทยานน้ำตกผาหลวง  น้ำตกสร้อยสวรรค์ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ผาชนะได ที่แนะนำเพราะพื้นที่ทั้งหมดที่กล่าวถึงไม่เคยทำให้ผู้หลงรักช่อมาลีผิดหวัง ที่สำคัญยังได้ชื่นชมน้ำตกอันงดงามเป็นของแถม ได้ดูพระอาทิตย์ขึ้นและตกเป็นของขวัญ สำหรับที่ผาชนะไดและน้ำตกสร้อยสวรรค์อาจเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปดีอยู่แล้ว หากทุ่งดอกไม้ที่คนเข้าไปเที่ยวน้อยและยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักคือวนอุทยานน้ำตกผาหลวง 


                      ดอกดาวไก่น้อยกับสร้อยสุวรรณา (สีเหลือง) ที่วนอุทยานน้ำตกผาหลวง


ดอกกระดุมเงินหรือมณีเทวาริมธารน้ำใสที่วนอุทยานน้ำตกผาหลวง


ดงดอกไม้บางจุดมีดอกไม้หลายชนิดชูช่ออยู่รวมกัน 
เช่น สร้อยสุรรณา ดุสิตา ที่วนอุทยานน้ำตกผาหลวง

วนอุทยานน้ำตกผาหลวงมีชื่อขึ้นต้นด้วยน้ำตกแต่มีน้ำตกเฉพาะช่วงฝน คนที่ไปเที่ยวอาจผิดหวังเพราะคาดหวังว่าจะเจอสายน้ำแสนสวย ช่วงปลายฝนน้ำเริ่มน้อยและอาจหมดลงในเร็ววัน แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์คือทุ่งดอกไม้กว้างใหญ่ ทัศนียภาพขุนเขาทอดยาวในฝั่งลาว แนวเสาหินโบราณอายุหลายร้อยล้านปี รวมถึงแนวหน้าผาที่มีรูปร่างแปลกตา เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งน่าสนใจส่วนหนึ่งในความเป็นไปของวนอุทยานน้ำตกผาหลวง หนาวนี้ถ้ายังไม่มีที่ไปหรือยังไม่ได้วางโปรแกรมการเดินทาง ขอแนะนำให้ไปชิมความงาม ณ วนอุทยานแห่งนี้ครับ


ทัศนียภาพขุนเขาและผืนนารอบๆ วนอุทยานน้ำตกผาหลวง


ลานหินกว้างใหญ่ในวนอุทยานน้ำตกห้วยหลวง 
ขุนเขาที่เห็นด้านหลังคือฝั่งลาว 


                         เสาหินโบราณในวนอุทยานน้ำตกผาหลวง  


ต้นหนาวนี้หนีไปดูดอกไม้ ไปดูน้ำตกสวยใสบนแผ่นดินอีสาน ปีหนึ่งบานทีหนึ่ง งามซึ้งถึงอารมณ์การเดินทาง ที่สำคัญผู้เขียนคิดว่าดอกไม้ธรรมชาติเหล่านี้งามทัดเทียมทุ่งดอกไม้ในต่างแดน ไม่ต้องเสียสตางค์เดินทางไกล ไม่ต้องไปถึงเนเธอร์แลนด์ แค่เดินเล่นให้เย็นใจในแลนด์ออฟสไมล์เท่านี้ก็สุขใจได้เช่นกันครับ (กล้องถ่ายภาพคืออาวุธคู่กายที่ดีที่สุดสำหรับการชื่นชมดอกไม้ อย่าลืมหาอาวุธติดตัวไป เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอก)


กล้วยไม้เกาะเกี่ยวบนต้นไม้ 
แสดงให้เห็นความสมบูรณ์ของผืนป่าวนอุทยานน้ำตกผาหลวง



                      ยอดหินสูงเหนือผืนที่ราบบนขุนเขา วนอุทยานน้ำตกผาหลวง (สุดยอดจุดชมวิว)


หมายเหตุ
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี
- วนอุทยานน้ำตกผาหลวงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น ในท้องที่บ้านนาเลิน ตำบลนาเลิน อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ประมาณ 11,375 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538
- สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาติดต่อกัน คือภูแผงม้ามีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 399 เมตร ภูพระทรายสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 392 เมตร ภูหมีเยี่ยมสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 362 เมตร ภูผักหวานสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 282 เมตร ซึ่งภูเขาเป็นลักษณะสูงชัน และมีที่ราบเป็นลานหินบนเขา 




                           ป้ายบอกสถานที่เที่ยวบนลานหินดินทราย วนอุทยานน้ำตกผาหลวง


วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อุตรดิตถ์ ผีตลกหลอกกันกลางตลาด (18 เฟรม)



ค่ำคืนก่อนวันออกพรรษา พระจันทร์เต็มดวง บนถนนสายเปลี่ยวมีม่านหมอกหนาทอดตัวปกคลุมเส้นทาง แสงรำไรเหลืองนวลจากเสาไฟฟ้าส่องผ่านหมอกขาวขุ่น เงาตะคุ่มสูงใหญ่เคลื่อนตัวเชื่องช้า เดินผ่านไปราวไม่มีเรา ไม่มีใคร ไม่มีอะไรเลยนอกจากพวกเขา ลมพัดแรง สายหมอกหนาจางลงบ้างบางจังหวะ ตอนนี้เงาตะคุ่มยามค่ำไม่ได้มีเพียงเงาเดียว หากมันมีมากกว่าสิบเงา


ผีตลก หน้าตาตลกๆ แบบดั้งเดิม

เงาที่เห็นเป็นผีที่ไม่ใช่ผี พวกเขาเป็นผีที่ต้องมนต์ประเพณีที่สืบทอดยาวนานมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ บ้างเรียกเขาว่า ผีโขน บ้างเรียกว่า ผีตลก ค่ำคืนก่อนออกพรรษา 1 วัน พวกเขาพากันสานไม้ไผ่เป็นโครง เอาเศษวัสดุเหลือใช้มาปะลงบนโครง เช่น นำหวดเก่าที่นึ่งข้าวเหนียวมาทำโครงหน้า นำผ้าจีวรเก่าคร่ำมาเป็นเสื้อคลุมตัวยาว (เย็บติดกับโครงไม้ไผ่อีกทีหนึ่ง) ฯลฯ นี่คือการทำหัวผีของบ้านท่าปลาแห่งเมืองอุตรดิตถ์


ผีตลก หน้าตาหลายรูปแบบ

ขบวนเงาที่ผ่านไปคือขบวนผีที่เสร็จสรรพจากการประดิษฐ์คิดทำ พวกเขากำลังเดินกลับบ้านหรือไปวัด (ยังไม่แน่ใจ) บางหมู่บ้านทำหัวผีจากบ้านแล้วไปวัด บางหมู่บ้านก็ทำกันที่วัด แต่ที่รู้ๆ พรุ่งนี้เช้าพวกเขาจะออกมาแหแหนหลอกหลอนผู้คนไปตามท้องถนน


การทำผีตลก

ตามความเชื่อ ประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่เสียชีวิตรวมถึงเปรตจากขุมนรกที่ขึ้นมาขอส่วนบุญส่วนกุศลในวันออกพรรษา ส่วนการเล่นผีโขนหรือผีตลกแต่เดิมคนเล่นต้องนำไข่ต้มหมากพลูไปเชิญวิญญาณที่หลุมศพในป่าช้าให้ออกมาเล่นตลกด้วยกัน หลังจากเล่นเสร็จคนเล่นต้องให้พระที่วัดรดน้ำมนต์ แต่ปัจจุบันไม่มีการเล่นกับผีในป่าช้าแล้ว


ขบวนแห่กฐินในวันออกพรรษาของชาวบ้านท่าปลา


ต้นกฐินอันงดงามตามแบบชาวบ้าน

ช้าวันใหม่ เสียงเพลงกลองยาวดังขึ้นเป็นระยะๆ ขบวนฟ้อนรำ ขบวนรถดอกไม้ และขบวนผีตลกในมาดเริงร่าออกมาจากวัด ออกมาสู่ท้องถนน ทั้งผีทั้งคนมารวมกันเพื่อส่งเสริมให้ประเพณีผีตลกยืนยงคงอยู่คู่คนท่าปลาแห่งเมืองอุตรดิตถ์ต่อไป


เด็กๆ กับขบวนแห่กฐินในวันออกพรรษาของชาวบ้านท่าปลา

การเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองอุตรดิตถ์มีบทเริ่มต้นที่งานแห่ผีตลก ส่วนบทสุดท้ายปลายทางอยู่ที่บ้านน้ำลี หมู่บ้านในหุบเขา หมู่บ้านกลางป่า หมู่บ้านนี้ไม่ได้อยู่ไกลเมือง แต่ไม่อยากเชื่อว่าหมู่บ้านที่ห่างตัวจังหวัดออกมาแค่ 30 กิโลเมตรจะงดงามเช่นนี้


น้ำลีกับสายหมอกยามเช้า

บ้านน้ำลี หมู่บ้านหนึ่งซึ่งเคยถูกน้ำป่าไหลหลากพลัดพรากบ้านเรือน...ชีวิต...คนรัก...พลัดพรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจนหมดสิ้น ค่ำคืนหนึ่งในปี 2549 สายน้ำสองสายคือน้ำลีน้อยกับน้ำลีใหญ่เพิ่มความสูงขึ้นเป็นลำดับ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่นานเกินตั้งตัว น้ำลีพรากทุกสิ่งไป ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สะพานคอนกรีต เรือกสวนไร่นา ชีวิต หายลับไปกับสายคงคาที่บ่าท่วม เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ต้องจดจำกันไปทั้งชีวิต สิ่งที่สำคัญสูงสุดของอุทกภัยร้ายแรงครั้งนี้มีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือชาวบ้านต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ ใครหายช่วยกันหา เจ็บป่วยช่วยกันเยียวยารักษา ช่วยกันเท่าที่มี ช่วยเท่าที่ทำได้ ขณะเกิดเหตุมิอาจรอภาครัฐ ไม่อาจรอภาคเอกชน ประเด็นที่สองคือพวกเขาไม่เคยโกรธเคืองภาครัฐที่เข้ามาช้าเพราะเข้าใจสถานการณ์ดี และไม่โกรธเคืองฟ้าดินหรือธรรมชาติเลยแม้แต่น้อย ทุกวันนี้ชาวน้ำลียังเคารพน้ำเคารพป่า อาศัยน้ำอาศัยป่าหากินไปตามวิถีทางของคนในหุบเขา



ฝายน้ำขนาดเล็กชะลอการไหลของสายน้ำลี

วันนี้สายน้ำลีสงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่มีทีท่าของความบ้าคลั่ง มีเพียงสายน้ำใสรินไหลให้เด็กๆ ในหมู่บ้านลงเล่นกันอย่างสนุกสนาน และมอบความอุดมให้ชาวบ้านได้บริโภคและใช้ในการเกษตรกรรม เมื่อน้ำลีสงบ ผู้คนกลับมายิ้มแย้มแจ่มใส อีกทั้งยังเปิดบ้านส่วนหนึ่งเป็นโฮมสเตย์ ผายมือต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือน บ้านไม้หลังเล็กที่ถูกจัดสร้างเป็นโฮมสเตย์อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการมาเที่ยว สภาพแวดล้อมชุมชน ผู้คน และธรรมชาติรอบด้านต่างหากที่เป็นหัวใจหลักของการเดินทาง


สายหมอกปกคลุมผืนป่าที่เขาอานม้า บ้านน้ำลี

ฟ้ายังไม่สาง เราไต่ความสูงขึ้นไปบนเขาอานม้า เขาที่มีผาสูงมองเห็นทัศนียภาพขุนเขากว้างไกล มองเห็นทะเลหมอกหยอกขุนเขา มองเห็นสายหมอกขาวคลอเคลียผืนป่า ชื่นใจที่ได้เห็น ชื่นใจที่ได้สัมผัสลมหนาวแรกแห่งปี


ดอกไม้ธูปเทียนกับพานไม้แกะสลักเครื่องไหว้กฐินในวันออกพรรษาที่วัดบ้านน้ำลี

ยามสายไปรวมตัวกับชาวบ้าน ไปร่วมทอดกฐิน ร่วมใส่บาตรข้าวเหนียวบนศาลาหลังเล็กของวัดในหมู่บ้าน ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมกันพองามจึงออกเดินทาง เดินทางไปตามลำน้ำลี เดินทางด้วยรถยนต์ชั้นดีที่เขาเรียกกันว่า อีหอบ หรือรถไถนาที่เขามาต่อกระบะไม้เพิ่มเพื่อบรรทุกพืชผลทางการเกษตร


อีหอบลุยน้ำ

อีหอบส่งเสียงทึก...ทึก...ทึก..เลาะเลื้อยไปตามราวป่า ข้ามลำห้วยหรือลำน้ำลีครั้งแล้วครั้งเล่า นับได้ 21 ครั้ง ระหว่างทางได้พบโป่งผีเสื้อ แมลงปอ นกนานาพันธุ์ ได้พบสวนกล้วยอันเป็นผลผลิตอันดับหนึ่งของชาวบ้าน ได้พบฟากฟ้าสีเข้มกับขุนเขาเขียวขจี ธรรมชาติรอบตัวงามซึ้งตรึงใจตั้งแต่ครึ่งทางแรกจวบจนจุดสุดท้ายยังงดงามไม่สร่างซา
ณ ปลายทาง กล้าไม้ถูกแจกจ่าย จอบเสียมถูกแรงชายขุดคุ้ยให้เป็นหลุม ผู้หญิงวางกล้าลงหลุม ผู้ชายเกลี่ยกลบ หวังว่าการปลูกป่าครั้งนี้จะมีส่วนช่วยชาติให้ร่มเย็นไม่มากก็น้อย


น้ำตกหินลาด

จากนั้นเดินทอดน่องท่องธารหินเข้าไปจนถึงน้ำตกขนาดกลาง น้ำตกที่ชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกหินลาด
หลายคนเริงร่ากับน้ำตกใสสะอาดด้วยการแช่ลงในแอ่ง หรือปล่อยให้สายน้ำเย็นชโลมร่างราวกำลังทำสปา อีกหลายคนผลุบๆ โผล่ๆ อยู่กับการถ่ายภาพแมลงปอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแมลงปอเข็มน้ำตก (Damselfly) และบันทึกภาพมอสตะไคร่ที่เกาะหินผา เริงร่าได้พักใหญ่เสียงใครต่อใครเริ่มบ่นว่าหิว


น้ำตกหินลาด


เริงร่าในลำน้ำลี

ข้าวปลาอาหารที่เตรียมมามีทั้งสุกและดิบ ที่สุกก็กินกันไปก่อน ที่ดิบก็ลงมือปรุงให้สมบูรณ์
ข้าวเหนียว หมูเค็ม ส้มตำ ยำหน่อไม้ อาหารง่ายๆ กลางพงไพรทำไมอร่อยอย่างนี้ เสียงจากสาวหน้าใสหัวใจศรีสะเกษพึมพรำหลังอิ่มอืด พร้อมกับโยกท้องโย้ๆ ลงไปนอนแนบเสื่อ หลับและกรนอย่างรวดเร็ว


แมลงปอบ้านบ่อพบริมน้ำตก

บ่ายแก่ๆ รถอีหอบย้อนกลับมาบนเส้นทางสายเดิม ข้ามน้ำข้ามห้วย ขึ้นเขาลงเนิน สนุกสนานไม่แพ้ขามา สุดท้ายจอดนิ่งสนิทที่หมู่บ้าน ปล่อยให้นักเดินทางแยกย้ายไปเก็บข้าวของในโฮมสเตย์


อีหอบบนห้วยน้ำลี

การจากลาก้าวมาถึง ความอาลัยปนเปื้อนไปกับรอยยิ้ม มือจับมือ ใจจับใจ จำจากลาแต่ศรัทธายังคงอยู่ ชาวบ้านบอกให้เรากลับมาอีก เราสัญญา ต้องยอมรับว่าเป็นคำสัญญาที่เอาแน่ไม่ได้ การรับปากมีแรงจูงใจจากหลายสาเหตุ...รับปากรับคำเพื่อให้สบายใจ...รับปากรับคำเพราะอารมณ์ห้วงลึกอยากกลับมาจริงๆ...อนาคตข้างหน้ายังไม่รู้ แต่สิ่งที่ต้องบอกกันตรงๆ คือบ้านน้ำลีเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ที่น่ามาพักน่ามาท่องเที่ยว (ควรมีเวลาอย่างน้อย 3 วัน 2 คืน จะได้เที่ยวให้คุ้มค่า หมู่บ้านนี้มีแหล่งท่องเที่ยวอยู่มากมายครับ)
ลาก่อนบ้านน้ำลี ลาก่อนผีตลก ลาก่อนเมืองงามที่ต้องจดจำกันไปอีกเนิ่นนาน หวังว่าวันหนึ่งจะได้กลับมาเยี่ยมเยือนกันอีกครั้ง ขอบคุณชาวบ้านทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือ...ขอบคุณทุกสิ่งที่มอบให้ ...ขอบคุณรอยยิ้มจากใจ...ขอบคุณป่าใหญ่ที่มอบผืนดินให้บ้านน้ำลีดำรงต่อไป


สำรับกับข้าวแบบบ้านๆ ที่บ้านผู้ใหญ่ประเสริฐ อารินทร์


หมายเหตุ
-          ควรมีเวลาอย่างน้อย 3 วัน 2 คืน จะได้เที่ยวให้คุ้มค่า หมู่บ้านนี้มีแหล่งท่องเที่ยวอยู่มากมายครับ

-          ขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
-       บทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร LIFE AND HOME

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แม่แจ่ม มีอะไร ทำไมต้องไป (30 เฟรม)


เมืองแม่แจ่ม นาขั้นบันไดเปลี่ยนแปลงไปหรือคงอยู่

นาขั้นบันไดกระจายตัวจากเชิงผาลงมาสู่ตีนเขา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน สำหรับในพื้นที่เขาอื่นๆ อาจมีอยู่บ้างแต่ไม่เหมือนที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพราะเป็นขั้นบันไดที่ไม่สูงมากนัก



ทัศนียภาพผืนนาขั้นบันไดบ้านนายาว (ก่อนขึ้นดอยไปเจอนาบ้านบงเปียง)


นาชั้นบันไดที่มีชื่อเสียงในวงกว้างช่วงสี่ห้าปีมานี้หนีไม่พ้นนาขั้นบันบ้านบงเปียง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบ้านบงเปียงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่เหนือขึ้นไปบนยอดดอย สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปแทบไม่มีพื้นราบ ดังนั้นการทำเกษตรกรรมจึงทำกันตามลักษณะพื้นที่ คือไล่เรียงลงมาจากภูไล่เรียงลงไปสู่หุบเขาเบื้องล่าง


นากลางเมืองแม่แจ่ม

แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ นอกจากกระท่อมกลางนา (เถียงนา, ขนำ) กระท่อมขนาดเล็กที่ใช้สำหรับพักจากกิจกรรมทำนาซึ่งมีอยู่สี่ห้าหลัง บ้านพัก แต่ล่าสุดมีการปลูกสร้างบ้านพักขึ้นกลางนาเพื่อ (อ้างว่า) อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากแดนไกล โดยเขาเรียกบ้านพักนี้ว่า “โฮมสเตย์” ซึ่งดูเหมือนไม่ตรงความหมายมากนัก คือโฮมสเตย์ที่แท้จริงเราต้องไปอยู่กินกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชาวบ้านตั้งแต่ตื่นยันหลับ ถ้าเป็นโฮมสเตย์ชาวนาก็ออกไปทำนา ดูแลนากับชาวบ้าน ถ้าเป็นชาวสวนก็ออกไปดูแลผลหมากรากไม้กับชาวสวน ถ้าเป็นชาวประมงก็ออกเรือไปกับชาวเล 



นาข้าวบ้านบนนา+เมืองแม่แจ่ม

การปลูกสร้างบ้านพักกลางนาแห่งใหม่ที่บ้านบงเปียงหากมองในเชิงท่องเที่ยวเข้าใจว่าน่าส่งเสริม แต่ทั้งนี้ต้องดูว่าจะควบคุมจำนวนบ้านพักเหล่านี้กันอย่างไร คือมีความเป็นห่วงจากผู้หลงใหลนาขั้นบันไดว่าถ้าปีหน้ามาอีกครั้งแล้วในนามีบ้านพักเต็มไปหมดอาจทำให้ทัศนียภาพเปลี่ยนไป เสน่ห์คงหดสั้นลง แต่ผมยังเชื่อว่าชาวบ้านคงมีทางออกที่ดี และที่เห็นว่าดีคือทำโฮมสเตย์จริงๆ บริเวณนี้ทำได้สองจุดคือบริเวณหมู่บ้านตีนผากับหมู่บ้านบงเปียง หรือถ้าจะสร้างบริเวณนาขั้นบันไดก็ขอให้อยู่ริมขอบอย่าลงไปสร้างในนาเลย 



ชุมชนบ้านตีนผา น่าทำโฮมสเตย์มาก

นอกจากบ้านพัก ยังมีสิ่งที่เปลี่ยนไปจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัดคือมีการปลูกข้าวโพดแทนข้าว แหล่งข่าวแจ้งว่าโดยปกติชาวบ้านแทบนี้เขาปลูกข้าวเอาไว้กินเอง เหลือจากเก็บไว้ในยุ้งข้าว (คนเหนือเรียกยุ้งว่า “หลอง”) จึงนำออกมาขายเป็นการเพิ่มรายได้ แต่การปลูกข้าวโพดปลูกเพื่อขายมากกว่าบริโภคเพราะพันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกเป็นข้าวโพดที่นำไปผลิตเป็นส่วนประกอบอาหารและนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ซึ่งในกรณีนี้ชาวบ้านมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับการท่องเที่ยวเพราะนาข้าวเว้าแหว่งไม่เต็มภูเขา บางช่วงบางตอนมีข้าวโพดยืนต้นตายหลายแปลง (หลังจากเก็บเกี่ยว)



ทุ่งข้าวโพดบ้านบงเปียง (อาจเป็นทุ่งแห่งความผิดหวังของใครบางคนหรือหลายคน)

เนื่องจากแม่แจ่มเป็นเมืองภูเขาดังกล่าวดังนั้นนักท่องเที่ยวประเภทแฟนพันธุ์แท้บ้านบงเปียงจึงเสียความรู้สึกไปบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นปัญหาเพราะยังมีนาข้าวขั้นบันไดในที่อื่นให้เสพสัมผัส เช่น นาข้าวบ้านกองกาน นาข้าวบ้านบนนา (ทั้งสองแห่งอยู่ใกล้ตัวอำเภอ) หรือใช้รถยนต์ 4x4 เข้าไปที่บ้านแม่ลองเป็นการทดแทน ทราบมาว่าบ้านแม่ลองยังดิบเดิม ยังไม่มีใครได้เข้าไปสัมผัสเพราะทางกันดารและอยู่ไกล

มีคำถามว่านอกจากนาขั้นบันไดแล้วมีอะไรน่าสนใจอีก ต้องบอกกันตรงๆ ว่าแม่แจ่มไม่มีอะไรมากนัก แต่คนที่รักนั้นรู้ดีว่าแม่แจ่มมีผ้าทอระดับชาติที่เราเรียกว่า “ผ้าตีนจกแม่แจ่ม” รวมถึงวัดที่เรียงรายอยู่ตามชุมชนต่างๆ เช่น วัดป่าแดด วัดพุทธเอ้น เป็นต้น

วัดพุทธเอ้นเป็นวัดที่มีพุทธลักษณะแบบพม่า ที่น่าสนใจที่สุดคือบริเวณหน้าวัดพบบ่อน้ำผุด น้ำนี้ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน เป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ ทางกรมทรัพยากรได้มาตรวจสอบปรากฏว่าเป็นน้ำสะอาดมากสามารถนำไปดื่มกินได้ ดังนั้นจึงเห็นชาวบ้านนำถังและขวดน้ำมารองน้ำไปไว้ใช้บริโภคกันตลอดทั้งวัน อย่าแปลกใจถ้าปรากฏว่าชาวแม่แจ่มไม่สนใจซื้อน้ำดื่มในร้านร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 เพราะมีน้ำสะอาดจากวัดผุดขึ้นมาให้ดื่มกินกันฟรีตลอดทั้งปีครับ


องค์เจดีย์กับอุโบสถวัดพุทธเอ้น


ชาวบ้านกับบริเวณบ่อน้ำสะอาดวัดพุทธเอ้น


หอไตรกลางน้ำ วัดพุทธเอ้น


นาข้าวขั้นบันไดบ้านบงเปียง


บ้านพักนักท่องเที่ยวถูกสร้างขึ้นมากลางผืนนาบ้านบงเปียง


ผืนนาข้าวเว้าแหว่งไม่เต็มดอยเพราะมีการปลูกข้าวโพดแซมแทรกซึ่งช่วงเวลาในการปลูกอยู่ในช่วงหน้าฝนเหมือนกัน แต่ผลผลิตที่ออกมาต่างกัน ข้าวโพดบางแปลงยืนต้นแห้งตายเนื่องจากเกี่ยวเก็บไปแล้ว


ความลับนาข้าวขั้นบันไดคือการจัดการน้ำจากลำธารสายเล็กที่รินไหลลงมาจากป่าอุดม 
ป่าบนขุนเขาที่มนุษย์อย่างเราๆ ชอบทำลาย

วัดป่าแดดเป็นวัดที่มีอุโบสถเก่าประกอบด้วยพระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงาม มีงานจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ และมีหอไตรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ส่วนงานศิลปะเชิงศาสนาอื่นๆ ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันเลย


อุโบสถเก่าวัดป่าแดด


องค์พระประธานวัดป่าแดด


จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด


วิหารวัดป่าแดด


ปฏิกรรมและงานแกะสลักพญานาคหน้าหอไตรวัดป่าแดด


นาข้าวบ้านกองกาน


น้ำตกห้วยทรายเหลือง ต้นน้ำอยู่ที่กิ่วแม่ปานดอยอินทนนท์


ธารน้ำใสห้วยทรายเหลือง

ผ้าตีนจกแม่แจ่มเป็นงานหัตถกรรมที่ทำมาแต่โบราณ ส่วนหนึ่งผลิตอยู่ที่บ้านท้องฝาย ว่ากันว่าจกแม่แจ่มนั้นงดงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตน มีลายกว่าสิบแบบ ราคาผ้าตีนจกลดหลั่นไปตามวัสดุและกรรมวิธี ถ้าเป็นลายตีนจกที่ใช้ผ้าฝ้ายล้วน ราคาตกผืนละ 6,500 บาท ถ้าเป็นผ้าฝ้ายผสมไหมเทียมผืนละ 3,500 บาท ส่วนผ้าทอไม่มีตีนจกตกผืนละ 200-350 บาท นอกจากนี้ยังมีผ้าฝ้ายแบ่งขายเป็นเมตร เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนเรื่องรายละเอียดราคาในผลิตภัณฑ์ต่างๆ คงต้องไปเที่ยวชมหรือสอบถามกันเองเพราะมีให้เลือกมากเหลือเกิน

สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปหากไปแม่แจ่มด้วยเวลา 3 วัน 2 คืน แนะนำให้เสพสัมผัสท้องนา ผ้าจกและวัดให้ครบถ้วนกระบวนความ ถ้าเวลาเหลือให้ไปเที่ยวน้ำตกห้วยทรายเหลืองกับน้ำตกแม่ปาน น้ำตกทั้งสองแห่งมีน้ำตลอดปีเพราะได้รับอิทธิพลความสมบูรณ์ของผืนป่าดอยอินทนนท์


ผ้าทอตีนจกบ้านท้องฝาย

ที่พักในตัวอำเภอแม่แจ่มมีอยู่หลายแห่ง ทั้งในรูปแบบรีสอร์ตธรรมชาติและโรงแรมขนาดเล็ก เสนอราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักพันต้นๆ ส่วนใหญ่เป็นรีสอร์ตเงียบสงบไม่มีอะไรหรูหราฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น  


บ้านเค้ก


บ้านเค้ก


บ้านเค้ก


เค้กฝีมือพ่อโปร่ง (เชฟอาวุโสแห่งบ้านเค้ก)


ห้องพักบ้านเค้ก


                                                ทัศนียภาพขุนเขากับผืนนาหน้าบ้านเค้ก

แม่แจ่มเมืองที่เราเห็นว่าเล็กสงบเงียบ ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง มีเรื่องน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง คือมีร้านอาหารซ่อนอยู่ตามถนนเป็นจำนวนมาก (ขัดกับจำนวนคนที่เห็น) ส่วนใหญ่เป็นร้านขนาดเล็กทั้งร้านก๋วยเตี๋ยวและอาหารตามสั่ง ที่โดดเด่นเห็นชัดน่าจะเป็นร้านม่านมุก ส่วนผู้ที่นิยมกินเค้กผมแนะนำให้ไปนั่งชิลๆ ที่บ้านเค้ก (ใกล้สี่แยกป่าแดด) ที่นี่เป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง (สูงมาก-สูงโปร่ง) ปลูกสร้างในสวน ตัวบ้านสร้างบนเนิน ใต้ถุนบ้านจัดวางโต๊ะเก้าอี้ ชิงช้าเพื่อต้อนรับผู้หลงใหลกลิ่นไอเค้กเข้มข้นระคนธรรมชาติ หน้าบ้านมีทัศนียภาพท้องนากว้างใหญ่กับขุนเขาที่ถูกโอบกอดด้วยม่านหมอกตลอดทั้งคืนวัน (บ้านเค้กมีโครงการทำเป็นโฮมสเตย์ในปีหน้า คงต้องติดตามข่าวต่อไป)


เส้นทางคดโค้งสูงชันใหม่เอี่ยมเชื่อมดอยอินทนนท์กับอำเภอแม่แจ่ม


บ้านซุกซ่อนอยู่ในขุนเขา (บ้านบางส่วนในเมืองแม่แจ่ม)

หมายเหตุ

การเดินทางไปแม่แจ่มไปได้สองทาง คือ 1.เชียงใหม่-อำเภอจอมทอง-ดอยอินทนนท์-แม่แจ่ม 2.เชียงใหม่-อำเภอจอมทอง-อำเภอฮอด-อำเภอแม่แจ่ม เส้นทางแรกเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านนิยมใช้เพราะใกล้กว่า แต่เส้นทางลงเขาคดโค้งสูงชันต้องใช้ความระมัดระวัง (ทางสายนี้สวยมาก อย่าพลาดโดยเด็ดขาด)

บ้านเค้ก (พ่อโปร่ง) โทร.086 180 0197