ไชน่าทาวน์เมืองไทยไม่ได้มีแค่เยาวราชอย่างที่เราเข้าใจ เพราะไชน่าทาวน์เหมารวมไปถึงคลองถม
เวิ้งนครเกษม และสะพานหันซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน แต่เยาวราชดูเหมือนจะโด่งดังกว่าเป็นที่คุ้นหูมากกว่า
ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะมีความหลากหลายมากกว่าคือมีศาลเจ้า วัด ภัตรคาร โรงแรม
ร้านทอง และสิ่งของอุปโภคบริโภคอีกมากมาย ร้านรวงเหล่านี้ยังก่อเกิดเป็นตำนานที่เล่าขานจากอดีตมาถึงปัจจุบัน
เช่น ร้านทองตั้งโต๊ะกัง ลอดช่องสิงคโปร์
พระทองคำวัดไตรมิตร
ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชมีหน้ากากให้นักท่องเที่ยวใส่ถ่ายรูป
วันเสาร์ที่ผ่านมาผมออกตามหาวัดแห่งหนึ่งซึ่งสืบทราบว่าลุงโฮหรือโฮจิมินห์ผู้กอบกู้ชาติเวียดนามเคยเดินทางมาพำนักและบวชเรียน แต่ความจริงท่านมาบวชที่วัดญวนสะพานขาวหาใช่ย่านเยาวราชอย่างที่เข้าใจ เช้าวันนั้นสายฝนโปรยปรายมิขาดสายมั่นหมายว่าการท่องถิ่นเยาวราชคงมีอุปสรรค ผมกับพรรคพวกจึงตัดสินใจเข้าไปกราบพระทองคำที่วัดไตรมิตรพร้อมกับเข้าไปเรียนรู้วิถีเยาวราชตั้งแต่ก่อนเก่ากระทั่งปัจจุบันในศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช (ภายในวัด) ไม่น่าเชื่อศูนย์แห่งนี้ บอกเล่าเรื่องราวเยาวราชได้ดีพอสมควรเหมือนเป็นมัคคุเทศก์ในเบื้องต้น อาทิ กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตำนานเรือสำเภาหัวแดงจากจังหวัดเฉาโจวหรือแต้จิ๋ว และมีประวัติต้นตระกูลคนจีนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีของสังคมไทยในปัจจุบัน คือ พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เถียน) ผู้ให้กำเนิดวัดจีนและพระที่นั่งทรงจีนในเมืองไทย อึ้งเหมี่ยวเหงียน (เจ้าสัวล่ำซำ) ผู้ให้กำเนิดโรงพยาบาลเพื่อคนยากไร้ เป็นต้น
บรรยากาศภายในศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช
ประตูเยาวราช
จากวัดไตรมิตรฝนบางเบาเราเดินออกมาที่ประตูเยาวราชหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา มีเรื่องเล่าว่าแถบนี้แต่เดิมเรียกว่าย่านเซียงกง ที่เรียกว่าเซียงกงเพราะหัวถนนด้านหนึ่งทางตะวันออกมีศาลเจ้าขนาดเล็กชื่อว่าศาลเจ้าเซียงกง คือเรียกตามชื่อเทพยาดานั่นเอง
บรรยากาศร้านเอี๊ยะแซ
จากประตูเยาวราชเราเข้าไปกราบเจ้าแม่กวนอิมในโรงพยาบาลเทียนฟ้าซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก กราบไหว้เสร็จสรรพขยับไปถึงแยกเฉลิมบุรีเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปตามซอยแคบเล็ก แวะกินกาแฟที่ร้านเอี๊ยะแซ ร้านนี้โล่งโปร่ง เป็นร้านกาแฟเก่าแก่กว่า 30 ปี ภายในร้านมีทั้งคนจีนและฝรั่งต่างชาติ ที่น่ารักที่สุดคือคนชงเป็นคนอีสานหาใช่คนจีนอย่างที่เข้าใจ
ฝั่งตรงข้ามร้านมีตรอกขนาดเล็กติดป้ายว่า “ตรอกข้าวสาร”
อันนี้สันนิษฐานในเบื้องต้นได้เลยว่าเป็นแหล่งค้าข้าวสารในอดีต (ตอนนี้มองหาข้าวสารไม่เจอซักกระสอบ)
มือชงร้านเอี๊ยะแซ
ตรอกข้าวสาร
เยาวราชถือเป็นแหล่งรวมรถเวสป้าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
อาคารอนุรักษ์ตั้งโต๊ะกัง
อิ่มเอมกับกาแฟหอมกรุ่นแกว่งเท้าไปตามซอกซอยซึ่งตอนนี้ผมเริ่มงงเพราะเพื่อนผู้นำทางพาลัดเลี้ยวไปมาออกซอยนี้ต่อซอยนั้นสุดท้ายไปยืนอยู่หน้าอาคารสูง 7 ชั้น เป็นอาคารคอนกรีตแบบยุโรป มีป้ายชื่อร้านแสดงตัวตนว่าที่นี่คือ”ร้านทองตั้งโต๊ะกัง”
บันไดทางขึ้นชั้น 6 ตั้งโต๊ะกัง
พวกเราชาวเดินเที่ยวเกี่ยวสุขล้างบาปทุกข์ให้กรุงเทพฯ เดินเข้าไปสวัสดีและแนะนำตัวต่อเจ้าบ้าน พูดคุยกันคร่าวๆ คราวนี้ทางร้านได้ส่งไกด์ซึ่งเป็นช่างหลอมทองนาม ”กิตติ” พาเราเดินขึ้นบันไดไปชั้น 6 ระหว่างทางได้พบว่าเจ้าของได้สะสมแสตมป์พิเศษที่แถมมากับกลักไม้ขีด (เขาเรียกอะไรผมไม่แน่ใจ) ติดอยู่ตามผนัง มีมากมายมายหลายรูปแบบ เป็นคอลเลคชั่นที่น่าสนใจและมีคุณค่าในทางการพิมพ์มาก
บรรยากาศภายในพิพิภัณฑ์ทองตั้งโต๊ะกัง
บนชั้น 6 มีโต๊ะไม้ เครื่องมือทำทอง ป้ายร้าน ลูกคิดพิมพ์ดีด กล่องใส่ทอง ครุฑ รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือในการทำทอง เป็นเครื่องมือตั้งแต่อดีต
ป้ายชื่อร้าน ด้านขวาคือป้ายเก่า เขียนภาษาไทยผิด เขียนเป็นตั้นโต๊ะกัง
ร้านทองตั้งโต๊ะกังมีอายุอานามกว่า 100 ปีแล้ว ต้นตระกูลคือนายตั้งโต๊ะกัง แซ่ตั้ง เขาเดินทางมาจากมณฑลเท่งไฮ้ จีนแผ่นดินใหญ่ แรกเข้ามาเมืองไทยได้อาศัยอยู่ในร้านทำทองเพราะเป็นคนมีฝีมือในการทำเงินและทอง จากนั้นจึงสะสมเงินทองแล้วเปิดร้านเป็นของตัวเอง ด้วยมากฝีมือทั้งยังมีกรรมวิธีละเอียดอ่อนกิจการเริ่มใหญ่โต จากร้านทองขนาดเล็กกระทั่งกลายเป็นร้านขนาดใหญ่มีช่างทำทองถึง 100 กว่าคน และในปีพ.ศ.2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชทานพระกรุณาธิคุณโดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายตั้งโต๊ะกัง แซ่ตั้ง เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองในพระราชูปถัมภ์ และทรงพระราชทานครุฑไว้ให้ในปีต่อมา
กล่องใสทองรูปพรรณในอดีต เป็นกล่องกระดาษลงลายตราครุฑ
ด้วยพระกรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงซึ่งนำมาซึ่งความปลาบปลื้มยินดีต่อคนในครอบครัว นายตั้งโต๊ะกังได้ย้ายบ้านมาที่มุมถนนวานิช ได้สร้างบ้านใหม่เป็นอาคาร 7 ชั้น มีปูนปั้นโดยรอบซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของนายช่างชาวฮอลันดาการสร้างบ้านใหม่เพื่อติดตั้งครุฑพระราชทานให้สมพระเกียติ ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ถูกยกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ของกรมศิลปากร ห้ามรื้อถอนโดยเด็ดขาด
บล็อกทองรุ่นใหม่
การดำเนินกิจการผ่านไปกระทั่งเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงเวลาแรกหรือบทเริ่มสงครามทำให้ทองขายดีเพราะซื้อไปเก็บกักตุน (ทองมีค่ามาก เงินเหมือนเศษกระดาษ) แต่หลังจากนั้นกิจการเริ่มทรุดลง ร้านทองทั่วไปปิดกิจการ ยกเว้นตั้งโต๊ะกังยังยืนหยัดผ่านมรสุมสงครามกระทั่งถึงปัจจุบัน
ทองรูปพรรณตั้งโต๊ะกัง
หากถามว่าทองตั้งโต๊ะกังมีอะไรดีถึงถูกนิยมมาเป็นอันดับหนึ่งโดยตลอด ต้องตอบว่า “ฝีมือ” ทองของตั้งโต๊ะกังมีลักษณะพิเศษคือไม่แข็งกระด้าง พิสูจน์ด้วยการนำสร้อยทองรูปพรรณ (ลายโซ่) หนัก 3 บาท 5 บาท และ 10 บาท มากำไว้ในมือจะรูปสึกนุ่ม เมื่อกองลงที่พื้นจะมีลักษณะเป็นก้อนกลม ไม่แข็งกระด้างเลยที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งห้างทองตั้งโต๊ะกังไม่มีสาขา ไม่มีร้านที่สอง มีเพียงร้านเดียวบนถนนสายเก่าแก่เยาวราชเท่านั้น ส่วนร้านอื่นๆ อาจใช้ชื่อคล้ายๆ เช่น ห้างทองโต๊ะกัง ร้านทองโต๊ะกัง คือนำคำว่าโต๊ะกังไปใช้
กระเพาะปลาผัดแห้งร้านไท้เฮง
กว่าจะสะบัดใจหลุดออกมาจากตั้งโต๊ะกังได้เวลาล่วงเลยไปบ่ายแก่ ตอนหิวซกเดินโซเซไปที่ร้านไท้เฮง ร้านนี้มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องสุกี้โบราณและผัดกระเพาะปลาแห้ง เป็นอันว่าผมกินทั้งสองอย่างรวมทั้งข้าวมันไก่อีก 1 จาน น้ำจิ้มสุกี้นั้นถูกใจมากครับ ผมเอามาราดกับกระเพาะปลาผัดแห้ง ปรากฏว่ากลมกล่อมดี
ปฏิมากรรมรูปเคารพในวัดบำเพ็ญจีนพรต
พระอริยะเมตไตยในวัดบำเพ็ญจีนพรต
ออกจากร้านเดินข้ามซอยเล็กมาที่วัดบำเพ็ญจีนพรตวัดเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ออกจากวัดบำเพ็ญจีนพรตแวะเข้าไปวัดกันมาตุยาราม วัดนี้ผมชอบเป็นวัดเล็กแบบไทยๆ มีจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่งดงามมาก เสียดายมีเวลาน้อย คงต้องย้อนกลับเข้าไปดูอีกซักครั้ง จากวัดกันมาตุยารามเข้าไปสู่ร่มเงาวัดใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือวัดมังกร ผมเข้าไปดูศิลปะเชิงพุทธศาสนา เข้าไปดูการสวดมนต์ของพระและเณรกระทั่งนั่งหลับคอพับคออ่อนจึงจากลา (ประมาณว่าอิ่มแล้วง่วง)
อุโบสถวัดกันมาตุยาราม
พระประธานในอุโบสถวัดกันมาตุยาราม
เณรน้อยวัดมังกร
ลอดช่องสิงคโปร์
คราวนี้เดินลัดเลาะไปเรื่อยเปื่อยกระทั่งไปโผล่หน้าร้านลอดช่องสิงคโปร์ ตามตำนานเล่าว่าแต่เดิมร้านนี้ขายลอดช่องแต่ไม่มีชื่อร้าน ทว่าตำแหน่งที่ตั้งอยู่หน้าโรงหนังสิงคโปร์หรือโรงหนังเฉลิมบุรีในเวลาต่อมา ดังนั้นมันจึงถูกเรียกว่าลอดช่องสิงคโปร์ไปโดยปริยาย สำหรับรสชาติถือว่าอร่อยครับคือกะทิกำลังเหมาะน้ำเชื่อมกำลังดีไม่หวานมากเกินไป ส่วนใครชอบหวานจัดอาจไม่ถูกใจนัก
ร้านลอดช่องตั้งอยู่ปากชอยโรงหนังเฉลิมบุรีหรือโรงหนังสิงคโปร์
อิ่มเอมกับลอดช่องสิงคโปร์ พรรคพวกส่วนหนึ่งนัดหมายกันไปกินมื้อค่ำต่อ ส่วนผมท้องใกล้แตกก็เลยขอตัวกลับมาบนทางเดิม ซึ่งตอนนี้เยาวราชเริ่มเข้าสู่ช่วงแสงสี เป็นราตรีที่งดงาม งามใจผู้มาเยือน งามเตือนความทรงจำ วันนี้ได้รับความรู้มากมายหลายกระบวนท่า ที่งามสง่าที่สุดคือบรรลุเป้าประสงค์ในการกอดบางกอกครับ
วิถีบนท้องถนน ต่อไปตรงนี้คือสถานีรถไฟฟ้าเยาวราช
ชีวิตยังดำเนินต่อไปแม้ว่าเวลาล่วงไปมากแล้ว...กอดบางกอก
#walkingbkk #walkingbangkok
ตอบลบ