วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แม่แจ่ม มีอะไร ทำไมต้องไป (30 เฟรม)


เมืองแม่แจ่ม นาขั้นบันไดเปลี่ยนแปลงไปหรือคงอยู่

นาขั้นบันไดกระจายตัวจากเชิงผาลงมาสู่ตีนเขา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน สำหรับในพื้นที่เขาอื่นๆ อาจมีอยู่บ้างแต่ไม่เหมือนที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพราะเป็นขั้นบันไดที่ไม่สูงมากนัก



ทัศนียภาพผืนนาขั้นบันไดบ้านนายาว (ก่อนขึ้นดอยไปเจอนาบ้านบงเปียง)


นาชั้นบันไดที่มีชื่อเสียงในวงกว้างช่วงสี่ห้าปีมานี้หนีไม่พ้นนาขั้นบันบ้านบงเปียง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบ้านบงเปียงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่เหนือขึ้นไปบนยอดดอย สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปแทบไม่มีพื้นราบ ดังนั้นการทำเกษตรกรรมจึงทำกันตามลักษณะพื้นที่ คือไล่เรียงลงมาจากภูไล่เรียงลงไปสู่หุบเขาเบื้องล่าง


นากลางเมืองแม่แจ่ม

แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ นอกจากกระท่อมกลางนา (เถียงนา, ขนำ) กระท่อมขนาดเล็กที่ใช้สำหรับพักจากกิจกรรมทำนาซึ่งมีอยู่สี่ห้าหลัง บ้านพัก แต่ล่าสุดมีการปลูกสร้างบ้านพักขึ้นกลางนาเพื่อ (อ้างว่า) อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากแดนไกล โดยเขาเรียกบ้านพักนี้ว่า “โฮมสเตย์” ซึ่งดูเหมือนไม่ตรงความหมายมากนัก คือโฮมสเตย์ที่แท้จริงเราต้องไปอยู่กินกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชาวบ้านตั้งแต่ตื่นยันหลับ ถ้าเป็นโฮมสเตย์ชาวนาก็ออกไปทำนา ดูแลนากับชาวบ้าน ถ้าเป็นชาวสวนก็ออกไปดูแลผลหมากรากไม้กับชาวสวน ถ้าเป็นชาวประมงก็ออกเรือไปกับชาวเล 



นาข้าวบ้านบนนา+เมืองแม่แจ่ม

การปลูกสร้างบ้านพักกลางนาแห่งใหม่ที่บ้านบงเปียงหากมองในเชิงท่องเที่ยวเข้าใจว่าน่าส่งเสริม แต่ทั้งนี้ต้องดูว่าจะควบคุมจำนวนบ้านพักเหล่านี้กันอย่างไร คือมีความเป็นห่วงจากผู้หลงใหลนาขั้นบันไดว่าถ้าปีหน้ามาอีกครั้งแล้วในนามีบ้านพักเต็มไปหมดอาจทำให้ทัศนียภาพเปลี่ยนไป เสน่ห์คงหดสั้นลง แต่ผมยังเชื่อว่าชาวบ้านคงมีทางออกที่ดี และที่เห็นว่าดีคือทำโฮมสเตย์จริงๆ บริเวณนี้ทำได้สองจุดคือบริเวณหมู่บ้านตีนผากับหมู่บ้านบงเปียง หรือถ้าจะสร้างบริเวณนาขั้นบันไดก็ขอให้อยู่ริมขอบอย่าลงไปสร้างในนาเลย 



ชุมชนบ้านตีนผา น่าทำโฮมสเตย์มาก

นอกจากบ้านพัก ยังมีสิ่งที่เปลี่ยนไปจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัดคือมีการปลูกข้าวโพดแทนข้าว แหล่งข่าวแจ้งว่าโดยปกติชาวบ้านแทบนี้เขาปลูกข้าวเอาไว้กินเอง เหลือจากเก็บไว้ในยุ้งข้าว (คนเหนือเรียกยุ้งว่า “หลอง”) จึงนำออกมาขายเป็นการเพิ่มรายได้ แต่การปลูกข้าวโพดปลูกเพื่อขายมากกว่าบริโภคเพราะพันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกเป็นข้าวโพดที่นำไปผลิตเป็นส่วนประกอบอาหารและนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ซึ่งในกรณีนี้ชาวบ้านมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับการท่องเที่ยวเพราะนาข้าวเว้าแหว่งไม่เต็มภูเขา บางช่วงบางตอนมีข้าวโพดยืนต้นตายหลายแปลง (หลังจากเก็บเกี่ยว)



ทุ่งข้าวโพดบ้านบงเปียง (อาจเป็นทุ่งแห่งความผิดหวังของใครบางคนหรือหลายคน)

เนื่องจากแม่แจ่มเป็นเมืองภูเขาดังกล่าวดังนั้นนักท่องเที่ยวประเภทแฟนพันธุ์แท้บ้านบงเปียงจึงเสียความรู้สึกไปบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นปัญหาเพราะยังมีนาข้าวขั้นบันไดในที่อื่นให้เสพสัมผัส เช่น นาข้าวบ้านกองกาน นาข้าวบ้านบนนา (ทั้งสองแห่งอยู่ใกล้ตัวอำเภอ) หรือใช้รถยนต์ 4x4 เข้าไปที่บ้านแม่ลองเป็นการทดแทน ทราบมาว่าบ้านแม่ลองยังดิบเดิม ยังไม่มีใครได้เข้าไปสัมผัสเพราะทางกันดารและอยู่ไกล

มีคำถามว่านอกจากนาขั้นบันไดแล้วมีอะไรน่าสนใจอีก ต้องบอกกันตรงๆ ว่าแม่แจ่มไม่มีอะไรมากนัก แต่คนที่รักนั้นรู้ดีว่าแม่แจ่มมีผ้าทอระดับชาติที่เราเรียกว่า “ผ้าตีนจกแม่แจ่ม” รวมถึงวัดที่เรียงรายอยู่ตามชุมชนต่างๆ เช่น วัดป่าแดด วัดพุทธเอ้น เป็นต้น

วัดพุทธเอ้นเป็นวัดที่มีพุทธลักษณะแบบพม่า ที่น่าสนใจที่สุดคือบริเวณหน้าวัดพบบ่อน้ำผุด น้ำนี้ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน เป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ ทางกรมทรัพยากรได้มาตรวจสอบปรากฏว่าเป็นน้ำสะอาดมากสามารถนำไปดื่มกินได้ ดังนั้นจึงเห็นชาวบ้านนำถังและขวดน้ำมารองน้ำไปไว้ใช้บริโภคกันตลอดทั้งวัน อย่าแปลกใจถ้าปรากฏว่าชาวแม่แจ่มไม่สนใจซื้อน้ำดื่มในร้านร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 เพราะมีน้ำสะอาดจากวัดผุดขึ้นมาให้ดื่มกินกันฟรีตลอดทั้งปีครับ


องค์เจดีย์กับอุโบสถวัดพุทธเอ้น


ชาวบ้านกับบริเวณบ่อน้ำสะอาดวัดพุทธเอ้น


หอไตรกลางน้ำ วัดพุทธเอ้น


นาข้าวขั้นบันไดบ้านบงเปียง


บ้านพักนักท่องเที่ยวถูกสร้างขึ้นมากลางผืนนาบ้านบงเปียง


ผืนนาข้าวเว้าแหว่งไม่เต็มดอยเพราะมีการปลูกข้าวโพดแซมแทรกซึ่งช่วงเวลาในการปลูกอยู่ในช่วงหน้าฝนเหมือนกัน แต่ผลผลิตที่ออกมาต่างกัน ข้าวโพดบางแปลงยืนต้นแห้งตายเนื่องจากเกี่ยวเก็บไปแล้ว


ความลับนาข้าวขั้นบันไดคือการจัดการน้ำจากลำธารสายเล็กที่รินไหลลงมาจากป่าอุดม 
ป่าบนขุนเขาที่มนุษย์อย่างเราๆ ชอบทำลาย

วัดป่าแดดเป็นวัดที่มีอุโบสถเก่าประกอบด้วยพระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงาม มีงานจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ และมีหอไตรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ส่วนงานศิลปะเชิงศาสนาอื่นๆ ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันเลย


อุโบสถเก่าวัดป่าแดด


องค์พระประธานวัดป่าแดด


จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด


วิหารวัดป่าแดด


ปฏิกรรมและงานแกะสลักพญานาคหน้าหอไตรวัดป่าแดด


นาข้าวบ้านกองกาน


น้ำตกห้วยทรายเหลือง ต้นน้ำอยู่ที่กิ่วแม่ปานดอยอินทนนท์


ธารน้ำใสห้วยทรายเหลือง

ผ้าตีนจกแม่แจ่มเป็นงานหัตถกรรมที่ทำมาแต่โบราณ ส่วนหนึ่งผลิตอยู่ที่บ้านท้องฝาย ว่ากันว่าจกแม่แจ่มนั้นงดงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตน มีลายกว่าสิบแบบ ราคาผ้าตีนจกลดหลั่นไปตามวัสดุและกรรมวิธี ถ้าเป็นลายตีนจกที่ใช้ผ้าฝ้ายล้วน ราคาตกผืนละ 6,500 บาท ถ้าเป็นผ้าฝ้ายผสมไหมเทียมผืนละ 3,500 บาท ส่วนผ้าทอไม่มีตีนจกตกผืนละ 200-350 บาท นอกจากนี้ยังมีผ้าฝ้ายแบ่งขายเป็นเมตร เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนเรื่องรายละเอียดราคาในผลิตภัณฑ์ต่างๆ คงต้องไปเที่ยวชมหรือสอบถามกันเองเพราะมีให้เลือกมากเหลือเกิน

สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปหากไปแม่แจ่มด้วยเวลา 3 วัน 2 คืน แนะนำให้เสพสัมผัสท้องนา ผ้าจกและวัดให้ครบถ้วนกระบวนความ ถ้าเวลาเหลือให้ไปเที่ยวน้ำตกห้วยทรายเหลืองกับน้ำตกแม่ปาน น้ำตกทั้งสองแห่งมีน้ำตลอดปีเพราะได้รับอิทธิพลความสมบูรณ์ของผืนป่าดอยอินทนนท์


ผ้าทอตีนจกบ้านท้องฝาย

ที่พักในตัวอำเภอแม่แจ่มมีอยู่หลายแห่ง ทั้งในรูปแบบรีสอร์ตธรรมชาติและโรงแรมขนาดเล็ก เสนอราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักพันต้นๆ ส่วนใหญ่เป็นรีสอร์ตเงียบสงบไม่มีอะไรหรูหราฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น  


บ้านเค้ก


บ้านเค้ก


บ้านเค้ก


เค้กฝีมือพ่อโปร่ง (เชฟอาวุโสแห่งบ้านเค้ก)


ห้องพักบ้านเค้ก


                                                ทัศนียภาพขุนเขากับผืนนาหน้าบ้านเค้ก

แม่แจ่มเมืองที่เราเห็นว่าเล็กสงบเงียบ ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง มีเรื่องน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง คือมีร้านอาหารซ่อนอยู่ตามถนนเป็นจำนวนมาก (ขัดกับจำนวนคนที่เห็น) ส่วนใหญ่เป็นร้านขนาดเล็กทั้งร้านก๋วยเตี๋ยวและอาหารตามสั่ง ที่โดดเด่นเห็นชัดน่าจะเป็นร้านม่านมุก ส่วนผู้ที่นิยมกินเค้กผมแนะนำให้ไปนั่งชิลๆ ที่บ้านเค้ก (ใกล้สี่แยกป่าแดด) ที่นี่เป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง (สูงมาก-สูงโปร่ง) ปลูกสร้างในสวน ตัวบ้านสร้างบนเนิน ใต้ถุนบ้านจัดวางโต๊ะเก้าอี้ ชิงช้าเพื่อต้อนรับผู้หลงใหลกลิ่นไอเค้กเข้มข้นระคนธรรมชาติ หน้าบ้านมีทัศนียภาพท้องนากว้างใหญ่กับขุนเขาที่ถูกโอบกอดด้วยม่านหมอกตลอดทั้งคืนวัน (บ้านเค้กมีโครงการทำเป็นโฮมสเตย์ในปีหน้า คงต้องติดตามข่าวต่อไป)


เส้นทางคดโค้งสูงชันใหม่เอี่ยมเชื่อมดอยอินทนนท์กับอำเภอแม่แจ่ม


บ้านซุกซ่อนอยู่ในขุนเขา (บ้านบางส่วนในเมืองแม่แจ่ม)

หมายเหตุ

การเดินทางไปแม่แจ่มไปได้สองทาง คือ 1.เชียงใหม่-อำเภอจอมทอง-ดอยอินทนนท์-แม่แจ่ม 2.เชียงใหม่-อำเภอจอมทอง-อำเภอฮอด-อำเภอแม่แจ่ม เส้นทางแรกเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านนิยมใช้เพราะใกล้กว่า แต่เส้นทางลงเขาคดโค้งสูงชันต้องใช้ความระมัดระวัง (ทางสายนี้สวยมาก อย่าพลาดโดยเด็ดขาด)

บ้านเค้ก (พ่อโปร่ง) โทร.086 180 0197

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18 ตุลาคม 2558 เวลา 01:24

    ชอบผ้าตีนจก คงถึงวัยที่อยากใส่แล้วมั้งค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผ้าตีนจกแม่แจ่มสวยจริงครับ

      ลบ