วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

SIAM VOLKSWAGEN FESTIVAL (16เฟรม)


เย็นย่ำค่ำวานนี้ ผมแกว่งเท้าไปบนถนนในค่ายทหาร กรมทหารราบ 11 รักษาพระองค์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ ที่ไปเพราะข่าวว่ามีงาน SIAM VOLKSWAGEN FESTIVAL ข่าวที่ได้รับไม่มีรายละเอียดมากนัก เท่าที่ทราบคือมีการรวมตัวของคนรักโฟล์ค มีการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินดังหลายท่าน และที่สำคัญมีการจุดเทียนชัยถวายในหลวง



ภายในงานแบ่งพื้นที่ออกเป็นหลายส่วน คือพื้นที่ส่วนรถยนต์ ร้านขายอาหาร เต็นท์สตรีทอาร์ต เวทีคอนเสิร์ต และศาลาอำนวยการ

ด้วยเป็นคนชอบ VOLKSWAGEN ผมเตร็ดเตร่ไปดูรถเป็นอันดับแรก เดินดูด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ แม้ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของแค่ได้มองก็สุขใจ เหตุที่ชอบเพราะที่บ้าน (เคย) เป็นอู่ซ่อมรถอเมริกัน-ยุโรป VOLKSWAGEN เป็นหนึ่งในรถที่พ่อรับซ่อมและผมเคยเป็นเด็กฝึกหัดในอู่ของพ่อ (เคยขับมันบ้างเล็กน้อย) พ่อบอกว่า VOLKSWAGEN เป็นรถที่ช่วงล่างดีที่สุด แต่น่าเบื่อตรงเรื่องระบายความร้อนได้ไม่ดี โดยเฉพาะในเมืองร้อนอย่างบ้านเรา (หมายถึงรุ่นเก่า)





หลังจากเดินดูโฟล์คสวย+คลาสสิค ผมตัดสินใจชอบคันนี้มากที่สุด 
(แม้จะหลงรักโฟล์คเต่าเปิดประทุนก็ตามที)


สภาพสตรีทอาร์ตภายในเต็นท์


สตรีทอาร์ต


ร้านหนังสือในส่วนสตรีทอาร์ต

ขณะเพลิดเพลินกับ VOLKSWAGEN หลายสไตล์ บนเวทีมีการแจกรางวัลเล็กๆ น้อยๆ จากดารารูปหล่อยอดนิยม คุณมาริโอ เมาเร่อร์ เป็นช่วงลดทอนความน่าเบื่อบางอย่างได้ดีเพราะนอกจากรถ รถ และรถ ไม่เห็นว่ามีกิจกรรมอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน โดยเฉพาะสตรีทอาร์ตที่ผมตั้งใจมาสัมผัส

หลังดูรถก็เริ่มหิว แวะเข้าไปกินหอยทอดกับไส้กรอกอีสาน ถึงตอนนี้ฟ้าเริ่มมืดลง แสงไฟสว่างขึ้น
บนเวทีมีวงโยทวาธิตแสดงขั้นความจืดชืด (ดนตรีดี แต่ไม่ช่วยอะไรมากนัก)

ท้องอิ่มเท้าเดิน เดินเข้าไปในส่วนสตรีทอาร์ต ในนั้นไม่มีอะไรมากนอกจากขายของเกี่ยวกับของแต่งรถเล็กๆ น้อยๆ เสื้อยืด หนังสือ มีร้านรวงประมาณ 10 ร้าน (ไม่แน่อาจไม่ถึงด้วยซ้ำ) สร้างความผิดหวังนิดหน่อยเพราะอย่างน้อยมันควรมีงานอาร์ตที่น่าสนใจสมกับเป็นสตรีทอาร์ต สมกับเป็นงานใหญ่อย่าง SIAM VOLKSWAGEN FESTIVAL (บอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร รอจุดเทียนชัย รอฟังเพลงดีๆ จากศิลปินคุณภาพ)




คนเลือดโฟล์ค หลากรุ่นหลายวัย จุดเทียนชัยถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เทียนชัยถูกจุดขึ้นตอน 1 ทุ่มตรง มีคุณหรั่ง ร็อคเครสต้า ร้องเพลงนำ บรรดาวสาวก VOLKSWAGEN ร้องเพลงตาม ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จพิธี

สังเกตว่าหลังจุดเทียนชัย สมาชิกโฟล์คหายไปจากลานกิจกรรมมากกว่าครึ่ง (ก่อนหน้านั้นไปแล้วครึ่งหนึ่ง)  100% จากช่วงเย็น ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 10 % เท่านั้น



หรั่ง ร้อคเครสต้า


บูม อภิรดี คณาคำ อภิรดี และพยัต ภูวิชัย 

จากนั้นเป็นคิวต่อเนื่องของศิลปิน เริ่มจากคุณบูม+บี๋ อภิรดี (สองแม่ลูก) ทั้งคู่ขึ้นมาพร้อมกับคุณพยัต ภูวิชัย มีเพลงใหม่ที่คุณพยัตเขียนขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะมาร้องให้ฟัง (เพลงไพเราะมาก) ทั้งสามเรียกเสียงตบมือได้มากตามสมควร (คือเท่าที่มีคนดู) ติดตามด้วยศิลปินมีชื่อเสียงระดับแถวหน้าของเมืองไทย เช่น สุเมธ, ฟอร์ด สบชัย, ติ็ก ชีโร่, บิลลี่ ออร์แกน

มาถึงตอนนี้ผมรู้สึกเสียดายเนื้อเสียงดีๆ จากศิลปินดังกล่าว ที่บอกว่าเสียดายเพราะงานนี้เป็นฟรีคอนเสิร์ตเปิดให้ชมฟรีไม่เสียสตางค์ใดๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเข้าใจว่าการโปรโมทงานทำไม่ถึง ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม คือทั้งๆ ที่มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคกลาง) เป็นสปอนเซอร์ร่วม น่าจะทำการประชาสัมพันธ์ได้ดีกว่านี้

ส่วนการที่สมาชิกหรือกลุ่มคนรักโฟล์คกลับก่อนคอนเสิร์ตเริ่มเกิดจากการวางสคริปงานไม่ดี ไม่กระชับ คือปล่อยให้เวลาในแต่ละช่วงผ่านพ้นไปโดยเปล่าประโชยน์ ไม่เชิญชวน (ให้อยู่) ไม่เร้าใจ ยกตัวอย่างเช่น หลังจากคุณมาริโอมาช่วยแจกของรางวัลก็ปล่อยให้เวทีร้าง ซึ่งความจริงช่วงนั้นน่าจะเป็นคิวศิลปิน จะได้มีความต่อเนื่องและไม่น่าเบื่อ ส่วนสตรีทอาร์ตคงต้องทำความเข้าใจใหม่ คือไม่ใช่มาขายเสื้อผ้าสองสามร้านแล้วบอกว่านี่คือถนนศิลปะ


หมายเหตุ

ทางผู้ดำเนินรายการภายในงานการประกาศว่าปีหน้าจะจัดงานขึ้นในช่วงวันแห่งความรัก กุมภาพันธ์ 2559 ก็ได้แต่หวังว่าคนรัก VOLKSWAGEN รักงานศิลปะและงานดนตรีจะได้เสพสัมผัสงานงานระดับชาติอย่างที่ทางผู้จัดพยายามให้มันเป็น (ด้วยรัก VOLKSWAGEN ต้องติดตามต่อไป ขอบคุณครับ)

ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคกลาง) ควรประชาสัมพันธ์งานให้มากกว่านี้ ดีกว่านี้ เพราะนี่ไม่ใช่งานเล็กๆ เป็นงานใหญ่ที่ใช้ชื่อบนเวทีว่า LONG LIVING THE KING OF THAILAND 2015 ส่วนบริษัทรับจัดงานหรือตัวครีเอทีพงานผมว่าปรับเถอะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Camera GoPro "เยาวชนรักบ้านเกิด ปักษ์ใต้บ้านเรา" เกาะสาหร่าย สตูล (24 เฟรม)


ปากอ่าว ท่าเรือทุ่งริ้น

ผมมีโอกาสเดินทางลงใต้ไปกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัยในแขนงต่างๆ ซึ่งครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย Camera GoPro และนักเรียนชั้นมัธยมปลายในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเยาวชนคนใต้ได้การเรียนรู้ศาสตร์แขนงใหม่ คือการถ่ายภาพวีดิโอ ภาพนิ่งจากกล้องตัวจิ๋วมากคุณภาพที่เราเรียกกันคุ้นปากกว่ากล้อง GoPro นักเรียนจะได้สร้างสรรค์งานหนังสั้นโดยใช้ต้นทุนเดิมคือแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นกับวิถีชุมชนเดิมผนวกกับความรู้ใหม่ที่เกิดจากการอบรมสัมมนาเพื่อผลิตและถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นให้คนทั่วไปได้รู้จักมุมใหม่ในเมืองชายแดน 


ช่วยกันคนละไม้คนละมือที่ท่าเรือทุ่งริ้น

ผมกับเพื่อนร่วมทางกางปีกลงใต้มีจุดหมายที่จังหวัดสตูล ปลายทางที่เกาะสาหร่ายในน่านน้ำอันดามัน แต่ก่อนไปเกาะเราเข้าไปดูบรรยากาศการอบรมเชิงวิชาการระหว่างวิทยากรผู้มีชื่อเสียงและผู้ชำนาญการเกี่ยวกับการถ่ายภาพ กำกับภาพยนตร์ ทีวี อาทิ คุณตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ คุณศรัณย์ เสมาทอง และคุณธีรภัทร บุญจันทร์ สำหรับโรงเรียนที่เข้าร่วมอบรมมีดังนี้ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนสะเดา “ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์” จังหวัดสงขลา โรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ จังหวัดสตูล (ผมคิดว่าน่าจะมีโรงเรียนจากจังหวัดนาราธิวาสเข้าร่วมด้วยแต่ในเอกสารแจ้งไว้เท่านี้)


มาถึงท่าเรือทุ่งริ้นก็ลงมือมือทำงานกันเลย


เช้าวันใหม่เราเดินทางไปที่ท่าเรือทุ่งริ้นเพื่อลงเรือต่อไปที่เกาะสาหร่าย ขณะลงเรือเราได้พบนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวนหนึ่ง ส่วนอีกจำนวนหนึ่งกระจายไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ (ทั้งหมด 12 เส้นทาง) เท่าที่เห็นนักเรียนดูตื่นเต้นยินดี มาถึงท่าเรือก็ทำงานกันเลย 


การเลี้ยงปลากระชัง ประมงพื้นบ้าน



ประมงพื้นบ้านกับป่าชายเลน ทุ่งริ้น

กล้องตัวเล็กกับเด็กน้อยล่องลอยไปบนสายน้ำปากอ่าว จากหมู่บ้านชาวประมงผ่านป่าโกงกางออกไปสู่อ้อมกอดอันดามันอันกว้างใหญ่ สุดท้ายไปถึงท่าเรือเกาะสาหร่ายโดยใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ ขณะเดินทางหนุ่มใต้วัยเรียนได้มาสัมภาษณ์ผมในฐานะนักท่องเที่ยว เขาถาม เธอถ่าย ทำงานเป็นทีม แต่ด้วยเป็นมือสมัครเล่น มีความประหม่าอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ทั้งนี้เข้าใจว่านี่คืองานแรกในชีวิต เป็นงานไม่เคยคุ้น มีตื่นเต้นกันบ้าง สำหรับผมถือว่าสอบผ่านในบทแรกเพราะพวกเขามีความตั้งใจสูง



หมู่บ้านชาวประมง

เกาะสาหร่ายเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยมุสลิมและคนไทยพุทธ แต่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยมุสลิม บนเกาะมีทั้งหมด 3 หมู่บ้าน มีอาชีพทำประมงเป็นหลัก เป็นประมงขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าประมงชายฝั่ง มีทั้งเลี้ยงปลาในกระชังและออกเรือลงอวนในท้องทะเลกว้าง



ท่าเรือเกาะสาหร่าย


วิถีชีวิตบนเกาะสาหร่ายในชุมชนคนประมง


การเดินทางบนเกาะนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง


หมู่บ้านทั้ง 3 แห่งอยู่กันคนละทิศแยกไปคนละทาง แต่พวกเขารวมใจสร้างสรรค์ให้เกาะนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดุจเดียวกัน บนเกาะประกอบไปด้วยโฮมสเตย์ แหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงอาหารพื้นถิ่น ซึ่งทั้งหมดคือโจทย์ในการนำไปขยายผลให้เป็นหนังสั้นของเยาวชนคนด้ามขวาน



ที่พักแบบโฮมสเตย์ที่บ้านบากันใหญ่ เกาะสาหร่าย มีทั้งแบบริมน้ำและใกล้ฝั่ง



อาหารเที่ยงสุดพิเศษ หอยลายผัดใบโหระพา ปูม้านึ่ง ไข่เจียว แกงเหลือง อร่อยสุดๆ ครับ


บังรัตน์ หรือวิรัตน์ ศิริโสภา อดีตเคยขายแรงงานในประเทศมาเลเซียมานานกว่า 15 ปี ภายหลังกลับบ้านและพบว่าการทำเกษตรพอเพียงตามโครงการพระราชดำริทำให้ชีวิตเป็นสุข


บ่อเลี้ยงปลากับกระท่อมไม้ของบังรัตน์ สถานศึกษาเกี่ยวกับวิถีเกษตรพอเพียง


ม่านฝนปกคลุมท้องทะเลเกาะสาหร่าย

วันนั้นแดดแรงในช่วงต้น ฝนรินล้นในช่วงบ่าย ต้องอธิบายกันให้เข้าใจว่าเกาะในอันดามันช่วงต้นพฤศจิกายนเป็นช่วงปลายมรสุม ความเป็นไปของดินฟ้าอากาศมักเป็นแบบนี้ คนทำสารคดีต้องเตรียมใจ แต่ทั้งนี้พอฝนหยุด ฟ้าก็ใส เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ทำงานกันเต็มที่ ทำงานกับสายฝนมีบอบช้ำเล็กน้อยแต่สนุกสนานกันถ้วนหน้า ผมคิดในใจว่าขอให้ได้งานกันทุกคน และขอให้งานของใครซักคนโดดเด่นเป็นที่สะดุดหูสะกิดตาเพราะผมอยากได้คนทำหนังรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนความจำเจใจไปสู่โลกแห่งการพัฒนาคิด พูดง่ายๆ ผมเบื่อหนังหรือละครจากหลายค่ายที่ทำแบบเดิม ทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นมาหลายสิบปี 



ชาวบ้านบางคนเป็นห่วงเรือ ต้องออกไปลากเรือเข้ามาผูกไว้ที่ชายฝั่ง


เยาวชนบางกลุ่มกลับจากดำน้ำ เข้ามาร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆ บนเกาะสาหร่ายในช่วงบ่า


ทะเลแหวกบนเกาะสาหร่ายหรือที่เรียกกันว่าสันหลังมังกรแดง บริเวณนี้มีหินเม็ดเล็กสีแดงทอดยาวลงไปในทะเลลึก หินบางก้อนแวววาวราวทับทิมสยาม สวยงามมาก นี่คือหนึ่งในอะเมสซิ่งเกาะสาหร่าย


ฟ้าหลังฝน แพะของชาวบ้านออกมาเดินทอดน่องใกล้ๆ บ้านพักแบบโฮมสเตย์

ช่วงสุดท้ายของวัน ผมจากลาเกาะสาหร่ายในช่วงบ่าย ส่วนน้องๆ ยังเก็บรายละเอียดเพื่อนำมาตัดต่อในค่ำคืนต่อไป งานนี้ต้องขอบคุณสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ให้เรามาร่วมสังเกตการณ์ดี ขอบคุณ Camera GoPro ส่งเสริมการณ์ดีและขอบคุณนักเรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการคิดการณ์ดี คงต้องติดตามผลงานดีๆ กันต่อไปในโลกโซเชียล เข้าใจว่าเร็วๆ นี้หนังสั้นจาก “เยาวชนรักบ้านเกิด ปักษ์ใต้บ้านเรา” จะเคลื่อนไหวอยู่ในใจใครหลายๆ คนครับ

หมายเหตุ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมหรือติดตามในยูทูป
       โครงการต่อเนื่องคือการสร้างงานเอนิเมชั่น โดยเริ่มในวันที่ 1-3 ธันวาคมนี้
       เกาะสาหร่ายเปิดให้คนเข้ามาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ช่วงไฮซีซั่นคือช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม ส่วนหลังจากนั้นมีฝน แต่ทั้งนี้ เกาะสาหร่ายอยู่ไม่ไกลจากฝั่งมากนักจึงเที่ยวได้ตลอด ทีสำคัญช่วงฝนเป็นช่วงที่เกาะสวยไปอีกแบบหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทุ่งบัวตองที่แม่แจ่ม (18 เฟรม)


ผมย้อนกลับไปย้อนกลับมาในเมืองเล็กๆ กลางหุบเขา ครั้งนี้มีจุดประสงค์อยู่ที่งานจุลกฐินวัดบ้านทัพหรือวัดทัพ แต่ก่อนถึงวันงานและหลังวันงานผมกับพรรคพวกแวะไปหลายที่หลายถิ่น ทั้งกลางป่าชื้นไปดูน้ำตกไหลริน ไปสัมผัสดวงตะวันริมผา แวะนาข้าว จากเช้าจนบ่ายเที่ยวตามใจไปในทุ่งบัวตอง 


น้ำตกห้วยทรายเหลือง

วันแรกผมกลับไปที่น้ำตกห้วยทรายเหลือง น้ำตกขนาดกลางที่ผมรักถึงหลงใหล และที่อยู่ไม่ห่างกันไม่ไกลมากนักคือน้ำตกแม่ปาน การเข้าไปเยือนน้ำตกแม่ปานต้องเดินเท้าจากถนนลาดยางสู่ทางดินดิบสายแคบ ระหว่างทางมีน้ำตกขนาดเล็กสองสามแห่ง มีดอกเทียนดอย ดอกรุ้งฟ้าผลิบานเป็นระยะๆ ส่วนน้ำตกแม่ปานนั้นเป็นน้ำตกสายเล็กแต่สูงกว่าร้อยเมตร รินไหลลงมาจากผาสูงร่วงลงสู่แอ่งแคบก่อนรินไหลหายลับไปกลับผืนป่า


ธารน้ำตกระหว่างทางเดินไปน้ำตกแม่ปาน


ดอกเทียนระหว่างทางเดินไปน้ำตกแม่ปาน


น้ำตกแม่ปาน

ทั้งน้ำตกห้วยทรายเหลืองและน้ำตกแม่ปานมีต้นน้ำจากกิ่วแม่ปานบนดอยอินทนนท์ ทั้งสองสายกลายเป็นเลือดเนื้อเชื้อเดียวกันในตอนที่หลอมรวมเป็นลำน้ำแม่แจ่มซึ่งเป็นสายน้ำสาขาสำคัญของลำน้ำปิง และลำน้ำปิงก็เป็นแม่น้ำสาขาสำคัญของเจ้าพระยา นับว่าวันนี้เรามาคาราวะต้นน้ำถึงแดนดินถิ่นขุนเขาที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่ใคร่รู้จัก


สายหมอกกับขุนเขาบันทึกภาพบนดอย บ้านบนนา

รุ่งเช้า เราออกเดินทางตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ขึ้นไปดักแสงแห่งวันใหม่บนขุนเขาเขตบ้านบนนา ทว่ามันเป็นไปอย่างที่คาดคิด คือเราไม่มีโอกาสเสพสัมผัสดวงอาทิตย์วันใหม่เพราะม่านหมอกปกคลุมท้องนาผืนป่าและเมืองแม่แจ่มจนขาวโพลนไปหมด สุดท้ายได้แต่ยิ้มและบอกตัวเองว่าคงต้องมาอีก มาอีก และมาอีก


บัวตองริมทาง บ้านบนนา

รถโฟวีลของ “เป็ก” ชายหนุ่มอารมณ์ดีพาเราไต่ความสูงชันไปบนทางแคบเล็ก ผ่านผืนป่าอนุรักษ์ ไร่กะหล่ำไร่ข้าวโพดในหุบเหว ผ่านแปลงเกษตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่บ้านทุ่งหญ้า ระหว่างทางมีบัวตองเบ่งบาน มีความเหน็บหนาวโอบกอด และไม่น่าเชื่อว่าในหุบเขาไกลโพ้นมีโรงเรียนและวัดคริสต์นามเซนต์โยเซพปลูกสร้างกลางป่า นับเป็นโรงเรียนน่าเรียนที่สุดแห่งหนึ่งครับ


ทัศนียภาพขุนเขา บ้านทุ่งหญ้า


ไร่พืชผักในหุบเขา บ้านทุ่งหญ้า


เส้นทางจากบ้านทุ่งหญ้าไปบ้านแม่ลอง ช่วงแรกเป็นถนนลาดยาง


ถนนช่วงสุดท้ายก่อนถึงบ้านแม่ลองเป็นถนนสีฝุ่นคดโค้งสูงชัน


จุดชมวิวก่อนถึงบ้านแม่ลอง


นาขั้นบันไดในหุบเขา บ้านแม่ลอง

เวลาผ่านไป เส้นทางลาดยางเปลี่ยนเป็นลูกรัง กว้างเป็นแคบ บัวตองยังคงเบ่งบานเป็นสายธารแห่งความเพลิดเพลิน กระทั่งถนนมาสิ้นสุดที่บ้านแม่ลอง ณ ที่นี้ มีบ้านไม้เรียงรายอยู่ริมผา มีสายธาราส่งเสียงอยู่ในหุบเบื้องล่าง มีนาข้าวขั้นบันไดกว้างไกลสุดตา


บ้านแม่ลองปลูกสร้างตามไหล่เขา บางจุดมีบัวตองเบ่งบานลานตา


แม้ข้าวถูกเก็บเกี่ยวไปแล้วแต่ทัศนียภาพเบื้องหน้ายังแสดงความงามให้เราเห็นเด่นชัด ที่น่าสนใจคือมีบัวตองตกดอกสีเหลืองเรืองรอง รองรับแสงตะวันยามสายไปถึงเที่ยง บ่ายไปถึงเย็น บัวตองเป็นดอกไม้สวยและแข็งแรง บานนานเป็นเดือนแม้บัวตองที่นี่ไม่ได้บานเป็นทุ่งขนาดใหญ่แบบดอกบัวตองที่ดอยแม่อูคอ จ.แม่ฮ่องสอน แต่มันบานตามไหล่ถนนเป็นสายยาว ประกอบกับในหุบเขาบ้านแม่ลองก็มีอีกบัวตองจำนวนหนึ่ง มันจึงเป็นทุ่งบัวตองใหม่ในนิยามการเดินทางท่องเที่ยว


จุดชมวิวสวนป่า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ รอยต่อแม่แจ่ม-ฮอด


แสงสุดท้ายหายลับไปกับขุนเขา บันทึกภาพที่สวนป่า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

การเดินทางมาครั้งนี้ผมได้ประโยชน์หลายอย่าง คือได้พบเห็นนาข้าวขั้นบันไดแห่งใหม่ (ปกติรู้จักแต่ที่บ้านบงเปียง) ได้สัมผัสสายน้ำแม่ปาน ได้ตามตำนานจุลกฐินที่งดงามและน่าเลื่อมใส ไม่แปลกใจตัวเองเลยว่าทำไมถึงมาแม่แจ่มได้สองสามหนในรอบไม่กี่เดือน เป็นเพราะเมืองอุดมแห่งนี้มีธรรมชาติรอบด้าน มีวัดวาอารามรอบตัว มีทุ่งนากว้างใหญ่ ผู้คนมีหัวใจขาวสะอาด เป็นเมืองประหลาดที่ชอบมอบความสุขให้คนแปลกหน้า ที่นี่คือแม่แจ่ม ที่นี่คือแอ่งความสุข ท่องเที่ยวคราวนี้ไม่ถึงกับสำลักแต่อิ่มเอมเกินพอ


ช่วงนี้ชาวนาเก็บเกี่ยวพืชผล

หมายเหตุ

ไว้มาเล่าเรื่องวัดกับจุลกฐินให้ฟังในครั้งหน้าครับ
บ้านแม่ลอง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
        จากแม่แจ่มไปบ้านแม่ลอง ระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร ต้องใช้รถ 4x4 เพราะเส้นทางคดโค้งสูงชัน ทางช่วงครึ่งหลังเป็นลูกรัง