วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หนองหาน สกลนคร



อาทิตย์สนธยาเหนือทะเลสาบหนองหาน ภูเขาด้านหลังคืออุทยานแห่งชาติภูพาน

ก่อนแสงแรกแห่งทิวาจะมาถึง แผ่นน้ำเบื้องหน้ามีสีครามคล้ำ ฟ้าหม่นมัว ลมหนาวปลายปีสาดซัดเรือนร่างให้เหน็บหนาวราวต้องเข็มแหลมร้อยพันเล่ม เวลาผ่านไป ม่านฟ้าสว่างขึ้น...สว่างขึ้น...อาทิตย์ดวงเดิมโผล่พ้นขุนเขาในฝั่งลาว  แสงสีทองค่อยๆ ทาทาบแผ่นฟ้า รัศมีสีส้มทองแผ่ขยายเป็นวงกลม...กว้างขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งสาดแสงจับแผ่นน้ำใสกลายเป็นโขงสีทอง ตอนนี้ไม่เหลือน้ำสีคราม ไม่เหลือฟ้าหม่น ทั้งหมดทั้งมวลกลายเป็นสีทอง ไม่มีร่องรอยของชนชั้นว่าข้าคือฟ้า เจ้าคือน้ำ ทุกอย่างสวยงามเทียมเท่ากันทั้งสิ้น


อาทิตย์ยามเช้าสาดแสงทาทาบหนองหานกลายเป็นทะเลทอง

ฟ้ายังไม่สาง ทางยังมืดหม่น บนท้องนามีสายหมอกบางๆ ปกคลุมนวลนุ่มราวกลัวซังข้าวแห้งจะชอกช้ำ ริมท้องน้ำกว้างใหญ่นาม  ทะเลสาบหนองหาน มีวัดพุทธขนาดกลางปลูกสร้างอยู่ริมน้ำสอง-สามวัด เช่น วัดบ้านท่าวัด ฯลฯ วัดเหล่านี้มีดีตรงที่มีของเก่าเก็บให้ผู้คนได้ชื่นชม ของเหล่านี้มีอายุอานามหลายพันปี เป็นของเก่าตั้งแต่ยุคสัมฤทธิ์ ยุคทราวดีเรื่อยมาถึงยุคอยุธยาและรัตนโกสินทร์


ตักบาตรเช้าริมทะเลสาบหนองหาน 

ฟ้าสาง ทางสว่าง อาทิตย์วันใหม่ลอยล่องเหนือผิวน้ำ สาดแสงสีทองทาทาบหนองหานกลายเป็นทะเลสาบสีทอง งดงามประหนึ่งเป็นภาพเขียนในจินตนาการมากกว่าเป็นภาพจริง
นกกระยางฝูงใหญ่ขยับปีกหายไปกับสายลมหนาว เรือหาปลาทยอยออกจากท่าน้ำริมตลิ่ง มุ่งออกไปวางตาข่ายเพื่อดักปลา นำมาเป็นอาหารจำนวนหนึ่ง นำไปขายอีกจำนวนหนึ่ง ชาวประมงแห่งลุ่มน้ำหนองหานเป็นอีกลีลาชีวิตหนึ่งที่สร้างสีสันให้หนองหานสดสวยสมบูรณ์แบบ ส่วนบึงบัวสายหรือบัวแดงย่อมกลายเป็นแรงสนับสนุนให้ทะเลสาบแห่งนี้มีสีสันมากขึ้น


นักท่องเที่ยวในหนองหาน ที่นี่น้ำใสสะอาด น้ำเป็นแผ่นเรียบ ทำให้เงาสะท้อนงดงามมาก


ปลาเนื้ออ่อนหนองหาน

ภาพชาวบ้านหยิบอาหารออกจากถาดทองเหลืองบรรจงวางลงในบาตรใบใหญ่เป็นภาพที่เกิดขึ้นริมน้ำหนองหาน เป็นวัฒนธรรมอันดีงามตามทำนองครองธรรมที่ต้องจารึกไว้ในความทรงจำ 
ด้านหลังพิธีตักบาตรสงฆ์ริมฝั่ง มีเรือประมงลำเล็กแล่นผ่านไปช้าราวไม่เร่งรีบหรือร้อนรน เรือลำน้อยแล่นไปบนพื้นผิวทะเลทอง ลำแล้วลำเล่าแล่นหายไปกับไอหมอกที่ลอยล่องเหนือแผ่นน้ำ มีฝูงนกนางแอ่นบินไล่ตามไปเหมือนกลัวถูกทอดทิ้งไว้กลางผืนน้ำกว้าง นี่คือบรรยากาศยามเช้า ณ ทะเลสาบหนองหาน สกลนคร 


บึงบัวแดงที่หนองหาน สกลนคร

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ผาช่อ เชียงใหม่ แกรนด์แคนยอนเมืองไทย

สายฝนปะปนแรงลมโหมผัดซัดขุนเขา ร่างกายผุกร่อน เนื้อดินหลุดล่อน ก้อนกระดูกเสื่อมสลาย ทว่าไม่ถือเป็นความเสียหาย หากกลายเป็นแผ่นผาน่าพิสมัย กลายเป็นขุนเขาแห่งความทรงจำ


ขุนเขาหรือภูผาที่ถูกลมฝนกัดกร่อนอยู่หลายล้านปีมีอยู่หลายที่ในโลก มีหลายที่ในประเทศไทย ที่รู้จักกันดีคือ “แพะเมืองผี” จังหวัดแพร่ “ ละลุ” จังหวัดสระแก้ว แถวๆ หนองหญ้าปล้องเมืองเพชรก็มี แต่มีขนาดเล็ก เล็กจนคนที่ผ่านไปมาไม่ใคร่สังเกต ส่วนภูผาล่าสุดที่ถูกกล่าวถึงความงามมิรู้จบคือผาช่อ 


ผาช่อ ตั้งอยู่ในอำเภอดอยหล่อ อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติแม่วาง ผาช่อเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของลมฝน ทำให้ภูผาผุกร่อน เกิดเป็นร่องรอยงดงาม ผาช่อมีลักษณะทั่วไปเป็นกำแพงและเสาหินขนาดใหญ่ มีขนาดสูงประมาณ 30 เมตร ส่วนด้านกว้างราว 100 เมตร ผาช่องามไม่เหมือนที่ใด ใครไปใครรัก ใครไปใครหลงใหล


                                   
ด้วยลักษณะทางธรรมชาติที่แปลกตาคล้ายแกรนด์แคนยอน ผาช่อจึงถูกขนานนามว่า “แกรนด์แคนยอนเมืองไทย”
เรื่องชื่อแกรนด์แคนยอนมีข้อถกเถียงจากคนบางกลุ่มว่าสมควรใช้หรือไม่อย่างไร ซึ่งผมเห็นว่านั่นเป็นประเด็นหนึ่งแต่ไม่ได้มีความสำคัญเท่าตัวภูผาที่ปรากฏ สิ่งที่ควรบันทึกและศึกษากันให้ถึงเนื้อความธรรมชาติคือสิ่งที่ก่อเกิดและผุกร่อนต่างหาก ความสำคัญดังกล่าวยังมีเรื่องราวให้เราพัฒนากันอีกเยอะ เช่น การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบนิเวศน์ศึกษา เที่ยวแบบส่งผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด อะไรประมาณนี้ครับ
 (มีนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าหลายร้อยพันปีก่อนบริเวณแห่งนี้เคยเป็นทางเดินของแม่น้ำปิง กระทั่งแม่น้ำปิงได้เปลี่ยนสายย้ายทิศไหลไปทางที่อื่น)



การเดินทาง
การเดินทางไปชมผาช่อไปได้หลายทาง เช่น จากอำเภอเมืองมาที่อำเภอสันป่าตอง เดินทางต่อมาที่อำเภอดอยหล่อ จากนั้นสังเกตป้ายข้างทางเขียนว่าแหล่งท่องเที่ยวผาช่อ  หรือมาทางอำเภอจอมทองก่อน จากนั้นเข้าสู่อำเภอดอยหล่อจะเห็นป้ายผาช่ออยู่ในระหว่างทาง 
สำหรับเส้นทางเข้าผาช่อช่วงสุดท้ายมีระยะทางประมาณ  7 กม. (เจ้าหน้าที่บอกประมาณนั้น) เป็นเส้นทางดินลูกรังอัดแน่น ถนนปรับเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ถนนใช้ได้ดีไม่ถึงกับลำบาก รถทุกชนิดเข้าถึง ระหว่างทางมีป่าโปร่งเบญจพรรณโอบกอด หากไม่รีบเร่งหรือมีเวลามากพอจะพบนกประจำถิ่นเป็นจำวนมาก


เมื่อถึงลานจอดรถต้องเดินเท้าไปอีกประมาณ 500 เมตรผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยขาไปขึ้นบันได ลงบันได ขากลับออกมาอีกทางหนึ่งเป็นทางธารน้ำ ช่วงหน้าแล้งธารแห้งเดินได้ หน้าฝนเดินลำบาก ทางอุทยานฯ จึงปิดไม่ให้คนเข้าในช่วงฝน ใครจะมาในช่วงนี้ลองสอบถามทางอุทยานฯ ให้แน่นอนอีกที เพราะความจริงเปิดได้ไปได้ คือไม่ต้องเดินในล่องน้ำแต่กลับมาตามทางเดิม ที่นี่เดินง่าย เด็กเดินได้ ผู้ใหญ่เดินดี ไม่มีอุปสรรคใดๆ มีหมวกซักใบ น้ำซักขวด รองเท้าผ้าใบซักคู่เท่านี้ก็หรูไปดูภูผาด้วยความสะดวกและเพลิดเพลินครับ



วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แอ่วเหนือม่วนกั๋น ปั่นวันธรรมดา เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมาผมกับเพื่อนบินลัดฟ้าไปเชียงใหม่ (ล่วงหน้านักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ 1 วัน) งานนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับการบินไทย สายการบินไทยสไมล์จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวแดนดินถิ่นล้านนา โดยใช้ชื่อว่า "แอ่วเหนือม่วนกั๋น ปั่นวันธรรมดา"


โบราณสถานที่เวียงกุมกาม



งานนี้น่าสนใจตรงจัดทัวร์แบบราคาประหยัดแต่คุ้มค่า 3 วัน 2 คืน เที่ยว 3 จังหวัด เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เที่ยวตั้งแต่ตื่นยันง่วงเหงาหาวนอน ราคาไม่ถึง 6,000 บาท รวมตั๋วเครื่องบิน โรงแรม อาหาร (ถูกอย่างนี้ไม่มีแล้ว)

สำหรับแหล่งโบราณคดีและวัดวาอารามเริ่มจากเชียงใหม่ คือเริ่มปั่นจักรยานเที่ยวชมกลุ่มโบราณสถานและวัดในเมืองเก่าล้านนา "เวียงกุมกาม"

เส้นทางส่วนใหญ่ร่มเย็นเงียบสงบ เหมาะกับการปั่นจักรยานท่องเที่ยวเชิงศึกษา ระหว่างทริปมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีร่วมบรรยายตลอดทางทำให้ก่อเกิดความรู้ความเข้าใจในแหล่งโบราณคดีนั้นๆ


พญานาคบนหลังคาพระอุโบสถวัดช้างค้ำ เวียงกุมกาม


การแสดงผ้าไทยล้านนาที่หลองข้าวลำ เชียงใหม่


วัดเจดีย์เหลี่ยม เชียงใหม่


วัดพระแก้วดอนเต้า ลำปาง

จากเชียงใหม่ วันรุ่งขึ้นขบวนแอ่วเหนือย้ายไปเมืองรถม้าลำปางด้วยรถบัส จากนั้นจึงไปปั่นจักรยานโดยเริ่มที่วัดพระแก้วดอนเต้า คราวนี้ขี่ผ่านเมือง ลัดเลาะไปตามวัดต่างๆ เช่น วัดปงสนุก แล้วไปจบที่ "กาดกองต้า" ถนนสายสำคัญของเมืองลำปางซึ่งในอดีตเคยเป็นถนนลือเลื่องเฟื่องสุดขีดเนื่องจากเป็นแหล่งค้าไม้ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

ช่วงบ่ายแวะไปชมแหล่งเซรามิกสำคัญที่ "ธนบดีเซรามิก" ที่บอกว่าสำคัญเพราะชามตราไก่ในเมืองไทยถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในเตาเผาแห่งนี้


วัดปงสนุก ลำปาง



รุ่งสางวันสุดท้าย เริ่มต้นกันใหม่ที่วัดจามเทวีเมืองลำพูน จากนั้นลัดเลาะเลียบเมืองไปที่วัดสันป่ายาง กู่ช้างกู้ม้า วัดพระยืน และวัดพระธาตุหริภุญชัยมหาวรวิหาร


วัดสันป่ายาง ลำพูน


วัดจามเทวี ลำพูน

สำหรับการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ผมเห็นว่าเกิดประโยชน์ในหลายแง่มุม คือได้สัมผัสแหล่งท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด ได้ออกกำลังกาย ได้พักผ่อนหย่อนใจ ได้เที่ยวแบบสะดวกสบายในราคาประหยัด

หวังว่าการจัดการท่องเที่ยวแบบนี้จะดำเนินต่อไปเพราะเกิดประโยชน์อย่างจริงจังดังกล่าว ส่วนจังหวัดใดจะนำไปประยุกต์ใช้ก็น่าทดลองดู (คิดว่าทำได้ไม่ยาก) ส่วนสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการจัดการอย่างมีระบบระเบียบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์ในการท่องเที่ยวเป็นหลักใหญ่ครับ



หมายเหตุ

- ไม่สามารถเล่ารายละเอียดได้หมดเพราะเยอะเหลือเกิน เอาไว้ยกมาเป็นเรื่องๆ แล้วมาเล่านอกรอบให้ฟังครับ

แกรนด์แคนยอน เชียงใหม่



ณ ที่แห่งนี้ในอดีตคือผืนดินกว้างราว 30 ไร่ เจ้าของได้ขุดเจาะเลาะลอกหน้าดิน เปิดกิจการขายดิน โดยเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ กระทั่งไปสิ้นสุดที่ 30 เมตร

หลายปีผันผ่าน ตำนานบ่อดินผันเปลี่ยน จากกิจการขายดินเปลี่ยนมาเป็นกิจการขายน้ำ รถตักดินเปลี่ยนเป็นเรือพาย บ่อดินกลายเป็นบึงน้ำท่ามกลางขุนเขา แกรนด์แคนยอนเมืองไทยปรากฏกายใต้เงาเมฆ ทอดตัวอยู่ในอ้อมกอดแผ่นฟ้าแสงตะวัน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้นักเดินทางและผู้สนใจได้เข้าไปเสพสัมผัส



แกรนด์แคนยอน เชียงใหม่ มีทัศนียภาพแปลกตา น่าพิสมัยสำหรับคนชอบน้ำชอบความสูง แรกๆ มีคนลักลอบเข้ามาเล่น มีชาวต่างชาติเข้ามาแหวกว่ายพายเรือ ตอนนี้กลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยว เจ้าของเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้ามาชมชื่นได้รื่นเริงกับการแหวกว่ายสายน้ำสวยด้วยความลึกกว่า 30 เมตร (ช่วงฤดูฝนระดับน้ำเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 5 เมตร)





ค่าเข้ามาเล่นในแกรนด์แคนยอน เขาคิด 50 บาท แลกเครื่องดื่มอาหาร เล่นได้ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ที่นี่ไม่มีพิธีอะไรมากกมายแค่ซื้อตั๋วแล้วแจ้งที่อาคารเอนกประสงค์เท่านั้นเป็นอันเสร็จ ส่วนผู้ที่ไม่นิยมแดด ไม่นิยมน้ำ สามารถเตร็ดเตร่อยู่ในอาคารกรุกระจกได้โดยสะดวก ที่สำคัญมุมจากอาคารนั้นสามารถทัศนาทัศนียภาพแกรนด์แคนยอนได้ถนัดชัดเจน เป็นมุมที่ดีที่สุดมุมหนึ่งครับ



จากการพูดคุยกับเจ้าของกิจการทราบว่าต้องมีการปรับปรุงอะไรอีกหลายส่วน เช่น กติกาการลงเล่นน้ำ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเอง และประมาณปลายปีหรือต้นปีหน้าทางเจ้าของโครงการจะเปิดบ้านพักขึ้นมาประมาณ 10-15 หลังเพื่อตอบสนองอารมณ์และความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ

หากเป็นไปตามที่คิดหวัง บ้านพักบางส่วนอาจกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ต้องจับตามอง คือรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมดังกล่าวยังไม่มีในเมืองไทย ตอนนี้เจ้าของขออุบไว้ก่อน (ไว้มีความคืบหน้าอย่างไรจะนำมาเสนอโดยพลัน)



แกรนด์แคนยอน ตั้งอยู่ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

อัศจรรย์พระธาตุหริภุญชัย




พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน


วันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมไปบันทึกภาพพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารและรายละเอียดอื่นๆ ในตัววัด เช่น วิหาร หอระฆัง ระเบียงแก้ว พระประธาน และปฏิมากรรมรูปเคารพอื่นๆ ตกค่ำโหลดรูปจากกล้องลงคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่าภาพอื่นๆ ที่้ไม่ใช่วัดพระธาตุฯ โหลดได้หมด ยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธาตุหริภุญไชย

ลองเอาการ์ดกลับมาใส่กล้อง เปิดดูภาพ ภาพทั้งหมดรวมถึงวัดพระธาตุฯ อยู่ครบถ้วน 

คราวนี้เอาการ์ดออกจากกล้อง ลองโหลดอีกครั้ง ยังเป็นเช่นเดิม คือในคอมพ์โชว์ว่ามีรูป เห็นรูป แต่โหลดมาแล้วเปิดไม่ได้ ที่น่าอัศจรรย์มากคือภาพอื่นๆ หลังจากถ่ายวัดพระธาตุฯ (เป็นภาพฝนห่าใหญ่ถล่มเมืองลำพูน) กลับเปิดได้โดยสะดวก 

ผมทำใจแต่ยังไม่ลบภาพ กลับมากรุงเทพฯ ลองอีกครั้ง ลองอีกครั้ง และลองอีกครั้ง ยังเป็นเช่นเดิม เข้าใจว่าเป็นข้อผิดพลาดทางเทคนิคของการ์ดหรือกล้อง ไฟล์อาจไปซ้อนไฟล์อะไรประมาณนั้น คือผมไม่ค่อยฉลาดก็เลยเดาไม่ถูกว่าเกิดจากอะไร สุดท้ายไร้ปัญญาคิดว่าคงต้องฟอร์แมทการ์ด ยอมเสียภาพวัดพระธาตุหริภุญไชยทั้งหมด

ก่อนลบภาพตัดสินใจโหลดอีกครั้ง คราวนี้อธิษฐานจิต ขอให้ได้ภาพวัดพระธาตุหริภุญชัยซักภาพ เพียงภาพเดียวก็พอใจเพราะผมต้องเอามาใช้งานในการเขียนคอลัมน์สารคดีท่องเที่ยวลงในหนังสือ

สิ่งที่เกิดขึ้น การโหลดภาพวัดพระธาตุหริภุญชัยครั้งสุดท้าย โหลดได้ทั้งหมด ไม่มีภาพไหนเสียหายเลยแม้แต่น้อย

ผมก้มกราบ พึมพำกับตัวเองว่า "วิทยาศาตร์ ไสยศาตร์ หรืออำนาจแห่งองค์พระธาตุล้วนน่าศึกษา บางสิ่งเร้นลับจับต้องไม่ได้ แต่ทำให้เรารับรู้ด้วยกลวิธีอะไรบางอย่าง ช่างน่าอัศจรรย์" 

เบื้องหลังความน่าอัศจรรย์มากกว่านั้นคือวันที่ไปบันทึกภาพวัดพระธาตุหริภุญชัยผมก้มกราบองค์พระประธาน กราบสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหมดในวัด มีเพียงสิ่งสำคัญสูงสุดเพียงสิ่งเดียวที่ไม่ได้กราบคือองค์พระธาตุหริภุญชัยนั่นเอง


(พรุ่งนี้อ่านเรื่องเมืองลำพูนกับการเดินทางด้วยจักรยาน)



วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บ้านนาต้นจั่น สุโขทัย


                            สายหมอกซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบขุนเขา เงางามกับบรรยากาศยามเช้า

หากพูดถึงจังหวัดสุโขทัย นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นึกถึงอะไร? ผมทายว่านึกถึงอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกยกให้เป็นมรดกโลก ลดหลั่นรองลงมาคงเป็น "เขาหลวง” ขุนเขาที่เหน็บหนาวด้วยหยาดน้ำค้าง มีไอหมอกหนาปกคลุมผืนป่าและทุ่งหญ้าแบบอัลไพน์ จากนั้นน่าจะเป็นผ้าทอหาดเสี้ยวที่โด่งดังมาแต่โบราณ  และอาจมีอะไรอีกหลายอย่างที่น่าสนใจและรู้จักกันดีอยู่แล้ว

แต่ถ้ากล่าวถึงการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในรูปแบบการเยี่ยมเยือนวิถีชุมชน ศึกษาชีวิตผู้คนด้วยการอยู่ร่วม นักท่องเที่ยวทั่วไปอาจคิดไม่ออกว่าสุโขทัยมีอะไรให้ศึกษา ซึ่งความจริงมีและดีด้วย



โฮมสเตย์หลังนี้น่านอนที่สุด ชิลล์มากๆ

การท่องเที่ยวแบบเข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้าน พักกับชาวบ้าน อยู่ร่วมวิถีชาวบ้านเราเรียกกันง่ายๆ ว่า “โฮมสเตย์”  และโฮมสเตย์ที่กล่าวถึงในที่นี้คือโฮมสเตย์ที่บ้านนาต้นจั่น เมืองศรีสัชนาลัย

ความจริงบ้านนาต้นจั่นสร้างการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์มาเนิ่นนาน แต่เป็นที่รู้จักของนักเดินทางเฉพาะกลุ่ม ไม่เป็นที่นิยมกว้างขวางอย่าง ภูเก็ต หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ (คนละอย่าง ต่างอารมณ์) แต่ทั้งนี้ชาวบ้านมิเคยท้อ ไม่เคยถอย ยังคงทำมาหากินและทำโฮมสเตย์มาเรื่อยๆ เพราะการทำโฮมสเตย์บนวิถีชีวิตเรียบง่ายไม่ได้ลงทุนอะไรนอกจากรอยยิ้ม.. ยินดี..ต้อนรับด้วยมิตรไมตรี นั่นคือเสน่ห์ของบ้านนาต้นจั่น 


ภายในศูนย์หัตถกรรมบ้านนาต้นจั่น

แล้วบ้านนาต้นจั่นมีอะไรเชิญชวนให้ไปเที่ยว?
คำตอบคือมีวิถีชีวิตดั้งเดิม มีการทำเกษตรแบบผสมผสาน คือในสวนมีทั้งพืชผักและผลไม้ มีพืชสวนครัวไปถึงพืชผลเศรษฐกิจ (สวนผสม)  มีการทำผ้าหมักโคลนเป็นผ้าดีมีน้ำหนัก งดงามด้วยการหมักโคลนและการทอที่ซับซ้อน  

ส่วนที่ผมติดอกติดใจเป็นพิเศษคือการเดินป่าผ่านความสูงชันสู่ยอดดอยห้วยต้นไฮ ดอยที่นักเดินทางไม่เคยคุ้น แม้ชื่อยังไม่ค่อยได้ยิน แต่เมื่อขึ้นไปถึงบนนั้นพบว่าเป็นดอยที่มีทัศนียภาพงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย (ยืนยันด้วยความเชื่อมั่น)


อาทิตย์ยามเช้าโผล่พ้นเหนือสันดอย


กลุ่มสื่อมวลชนกับเจ้าหน้าที่ ททท.สำรวจดอยห้วยต้นไฮ

บนดอยห้วยต้นไฮเป็นสันเขาแคบๆ ชาวบ้านได้ปรับพื้นที่สำหรับกางเต็นท์ ยกแคร่ไม่ไผ่ทำเป็นที่นั่งกินข้าว ทำห้องน้ำ  ส่วนที่เหลือยังคงสภาพป่าไว้ดังเดิม

ที่บอกว่าติดใจเพราะบนสันดอยแห่งนี้มีทัศนียภาพงดงาม สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้ในจุดเดียวกัน แค่ยืนอยู่บนสันดอยหรือนั่งรอยคอยด้วยการโผล่หน้าออกมาจากเต็นท์ก็สามารถเสพสัมผัสดวงตะวันได้ทั้งสองอารมณ์ ไม่ต้องเดินไกล ไม่ต้องขยับตัว เพียงขยับตาก็สุขอุราเหลือล้น ส่วนในคืนเดือนแรมบนสันดอยแห่งนี้พร่างพราวไปด้วยดารารายราวดวงดาวในผืนทะเล งดงามไม่แพ้ดอยใดๆ ในสยาม


ตะวันยามเย็นลาลับ ค่อยขยับหายไปหลังขุนเขา ปล่อยให้เงารติกาลเข้าแทนที่


จานข้าวใช้ไม้ไผ่กับกาบหมาก ไม่มีการใช้โฟมให้เสียอารมณ์ 

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงข้อชี้นำเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ ส่วนมันจะสวย ดี หรือเลอเลิศเพียงใดไม่มีข้อยุติหรือข้อสรุปที่เด่นชัด นอกจากนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่สรุปได้คือคุณภาพชีวิตของชาวบ้านนั้นยอดเยี่ยม ทุกคนสดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดีเป็นนิจ ไม่มีมลพิษมากวนใจ ผมรักที่นี่ครับ


ก่อนจากลา ปลูกป่าด้วยการยิงลูกไม้ หวังให้เจริญเติบโตต่อไปในภายหน้า


หมายเหตุ  
-  ดอยห้วยต้นไฮเป็นดอยที่มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี แต่มีบางช่วงปิดให้ป่าฟื้นคืนความสมบูรณ์ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร.088 4957738, 089 8851639
     

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

Oldtown ท่าแร่ สกลนคร



สยามประเทศได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากยุโรปมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ตามหัวเมืองชั้นนำต่างๆ ปรากฏอาคารที่เรียกกันติดปากตามลักษณะสถาปัตยกรรมว่า โคโลเนียลสไตล์ อาทิ อาคารเก่าที่จังหวัดภูเก็ต อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตรัง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีให้เห็นในภาคอีสานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้ๆ แม่น้ำโขง อย่างที่อำเภอท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ถือเป็นสถานที่หนึ่งที่ยังมีอาคารสวยๆ แบบยุโรปให้เห็น


เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้คนในเขตอำเภอท่าแร่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ (ชุมชนคาทอลิก) สถาปัตยกรรมอาคารที่พบเป็นอันดับแรกคือวัดฝรั่ง ถัดลงมือคืออาคารบ้านเรือน โดยทั่วไปเป็นเรือนไม้สองชั้นมีระเบียงอย่างที่เห็นในชนบทหรือตามต่างจังหวัด อีกจำนวนหนึ่งเป็นอาคารคอนกรีตใหญ่โตสร้างตามแบบฝรั่งมีเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมยุโรปอย่างชัดเจน




ลักษณะอาคารแบบฝรั่งเศสในชุมชนคนไทยคาทอลิก ท่าแร่ จังหวัดสกลนคร

อาคารส่วนใหญ่มีโครงสร้างสถาปัตยกรรมเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ความห่างระหว่างเพดานกับพื้นด้านล่างสูงมากทำให้บ้านโปร่งสบาย ด้านหน้าบ้านทำเป็นระเบียงทั้งด้านบนและด้านล่าง กรอบประตูหน้าต่างเป็นบานโค้ง เหนือกรอบประตูมีลายปูนปั้นแบบนูนสูง ส่วนใหญ่เป็นลายเครือเถาว์ เช่น ลายองุ่น ฯลฯ ลวดลายปูนปั้นเหล่านี้ถือเป็นเสน่ห์ทำให้ตัวอาคารสวยงามน่าสนใจและลดทอนความกระด้างของตัวอาคารได้มาก 
ส่วนบานหน้าต่างใช้ไม้เข้ามามีส่วนร่วม เหนือบานหน้าต่างทำเป็นช่องระบายลม ภายในบ้านบริเวณชั้นล่างยังมีร่องรอยฐานคอนกรีตซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของพระเยซูคริสต์ปรากฏอยู่





ซุ้มประตูโค้งมีลายปูนปั้นประดับ ส่วนใหญ่เป็นลายเครือเถาว์ เช่น ลายเถาว์องุ่น

อาคารบ้านเรือนส่วนหนึ่งยังมีคนอยู่อาศัย อีกส่วนหนึ่งปิดทิ้งหรือแรมร้างผู้คนเพราะเจ้าของเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่อาคารเหล่านี้ถูกทิ้งเพราะมันมีความงามปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด
มีอาคารหลังหนึ่งหลงเหลือเพียงกำแพงให้เห็น อาคารหลังนี้สร้างด้วยอิฐศิลาแลง เคลือบด้วยปูนขาวที่ทำจากหอยกาบซึ่งหาได้ง่ายในบริเวณนั้นคือหนองหาน อาคารหลังนี้เป็นของนายนายเฮียน เลียนดึ่งดึ่ง ชาวญวณ (เปลี่ยนชื่อสกุลในภายหลังเป็นนายหนู ศรีวรกุล) อาคารหลังนี้สร้างตั้งแต่ปี. พ.ศ. 2427 อายุอานามปาเข้าไป 126 แล้ว อาคารหลังนี้นายเฮียนผู้เป็นเจ้าของเรียกว่า ตึกหิน


เหนือประตูโค้งนอกจากลวดลายปูนปั้นยังปรากกฎหลักฐานในการจารึกปีการก่อสร้าง 

อาคารเหล่านี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันคริสต์มาสเดินทางมาถึง คริสต์ศาสนิกชนจะจัดงานรำลึกถึงพระเยซูเจ้า มีการแห่ดาว (ดาวประดิษฐ์ใช้ไฟฟ้า) ประดับดาวตามบ้านเรือน (ดาวเป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จมาประสูติของพระเยซู) ในวันนี้มีดาวหลายร้อยพันสีประดับตามบ้านเรือน ไม่เว้นแม้อาคารเก่าแก่ที่ถูกทิ้งร้าง 
ปีหนึ่งอาคารเก่าแก่กลับมามีชีวิตทีหนึ่ง แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันช่วยให้อาคารเก่าเหล่านี้กลับมางดงามเฉกในอดีต ทั้งยังทำให้ผู้ที่ผ่านไปพบเห็นเบนความสนใจจากการแห่ดาวมาดูสถาปัตยกรรมฝรั่ง (บ้าง) 
 ที่นี่คือท่าแร่ ท่าแร่คือชุมชนคนไทยคาทอลิก คนไทยคาทอลิกคือผู้โอบอุ้มสถาปัตยกรรมเก่าเอาไว้ 
จากการได้สัมผัสทั้งภายในและภายนอก คิดว่าทางภาครัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรหันกลับมามองอาคารเหล่านี้ ส่งเสริมให้ทุนสนับสนุนในการปรับปรุงส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม ทำความสะอาดในส่วนที่ยังคงอยู่ หากมีการปรับปรุงหรือซ่อมเสริมควรเป็นไปตามลักษณะสถาปัตยกรรมที่ถูกต้อง อาคารสไตล์ฝรั่งเศสกลุ่มนี้จะกลายเป็นแหล่งศึกษาสถาปัตยกรรมอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าที่ใดในประเทศ และเห็นควรให้อนุรักษ์เอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้สืบไป