วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

Oldtown ท่าแร่ สกลนคร



สยามประเทศได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากยุโรปมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ตามหัวเมืองชั้นนำต่างๆ ปรากฏอาคารที่เรียกกันติดปากตามลักษณะสถาปัตยกรรมว่า โคโลเนียลสไตล์ อาทิ อาคารเก่าที่จังหวัดภูเก็ต อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตรัง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีให้เห็นในภาคอีสานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณใกล้ๆ แม่น้ำโขง อย่างที่อำเภอท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ถือเป็นสถานที่หนึ่งที่ยังมีอาคารสวยๆ แบบยุโรปให้เห็น


เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้คนในเขตอำเภอท่าแร่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ (ชุมชนคาทอลิก) สถาปัตยกรรมอาคารที่พบเป็นอันดับแรกคือวัดฝรั่ง ถัดลงมือคืออาคารบ้านเรือน โดยทั่วไปเป็นเรือนไม้สองชั้นมีระเบียงอย่างที่เห็นในชนบทหรือตามต่างจังหวัด อีกจำนวนหนึ่งเป็นอาคารคอนกรีตใหญ่โตสร้างตามแบบฝรั่งมีเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมยุโรปอย่างชัดเจน




ลักษณะอาคารแบบฝรั่งเศสในชุมชนคนไทยคาทอลิก ท่าแร่ จังหวัดสกลนคร

อาคารส่วนใหญ่มีโครงสร้างสถาปัตยกรรมเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น ความห่างระหว่างเพดานกับพื้นด้านล่างสูงมากทำให้บ้านโปร่งสบาย ด้านหน้าบ้านทำเป็นระเบียงทั้งด้านบนและด้านล่าง กรอบประตูหน้าต่างเป็นบานโค้ง เหนือกรอบประตูมีลายปูนปั้นแบบนูนสูง ส่วนใหญ่เป็นลายเครือเถาว์ เช่น ลายองุ่น ฯลฯ ลวดลายปูนปั้นเหล่านี้ถือเป็นเสน่ห์ทำให้ตัวอาคารสวยงามน่าสนใจและลดทอนความกระด้างของตัวอาคารได้มาก 
ส่วนบานหน้าต่างใช้ไม้เข้ามามีส่วนร่วม เหนือบานหน้าต่างทำเป็นช่องระบายลม ภายในบ้านบริเวณชั้นล่างยังมีร่องรอยฐานคอนกรีตซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของพระเยซูคริสต์ปรากฏอยู่





ซุ้มประตูโค้งมีลายปูนปั้นประดับ ส่วนใหญ่เป็นลายเครือเถาว์ เช่น ลายเถาว์องุ่น

อาคารบ้านเรือนส่วนหนึ่งยังมีคนอยู่อาศัย อีกส่วนหนึ่งปิดทิ้งหรือแรมร้างผู้คนเพราะเจ้าของเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่อาคารเหล่านี้ถูกทิ้งเพราะมันมีความงามปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด
มีอาคารหลังหนึ่งหลงเหลือเพียงกำแพงให้เห็น อาคารหลังนี้สร้างด้วยอิฐศิลาแลง เคลือบด้วยปูนขาวที่ทำจากหอยกาบซึ่งหาได้ง่ายในบริเวณนั้นคือหนองหาน อาคารหลังนี้เป็นของนายนายเฮียน เลียนดึ่งดึ่ง ชาวญวณ (เปลี่ยนชื่อสกุลในภายหลังเป็นนายหนู ศรีวรกุล) อาคารหลังนี้สร้างตั้งแต่ปี. พ.ศ. 2427 อายุอานามปาเข้าไป 126 แล้ว อาคารหลังนี้นายเฮียนผู้เป็นเจ้าของเรียกว่า ตึกหิน


เหนือประตูโค้งนอกจากลวดลายปูนปั้นยังปรากกฎหลักฐานในการจารึกปีการก่อสร้าง 

อาคารเหล่านี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันคริสต์มาสเดินทางมาถึง คริสต์ศาสนิกชนจะจัดงานรำลึกถึงพระเยซูเจ้า มีการแห่ดาว (ดาวประดิษฐ์ใช้ไฟฟ้า) ประดับดาวตามบ้านเรือน (ดาวเป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จมาประสูติของพระเยซู) ในวันนี้มีดาวหลายร้อยพันสีประดับตามบ้านเรือน ไม่เว้นแม้อาคารเก่าแก่ที่ถูกทิ้งร้าง 
ปีหนึ่งอาคารเก่าแก่กลับมามีชีวิตทีหนึ่ง แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันช่วยให้อาคารเก่าเหล่านี้กลับมางดงามเฉกในอดีต ทั้งยังทำให้ผู้ที่ผ่านไปพบเห็นเบนความสนใจจากการแห่ดาวมาดูสถาปัตยกรรมฝรั่ง (บ้าง) 
 ที่นี่คือท่าแร่ ท่าแร่คือชุมชนคนไทยคาทอลิก คนไทยคาทอลิกคือผู้โอบอุ้มสถาปัตยกรรมเก่าเอาไว้ 
จากการได้สัมผัสทั้งภายในและภายนอก คิดว่าทางภาครัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรหันกลับมามองอาคารเหล่านี้ ส่งเสริมให้ทุนสนับสนุนในการปรับปรุงส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม ทำความสะอาดในส่วนที่ยังคงอยู่ หากมีการปรับปรุงหรือซ่อมเสริมควรเป็นไปตามลักษณะสถาปัตยกรรมที่ถูกต้อง อาคารสไตล์ฝรั่งเศสกลุ่มนี้จะกลายเป็นแหล่งศึกษาสถาปัตยกรรมอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าที่ใดในประเทศ และเห็นควรให้อนุรักษ์เอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้สืบไป


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ27 กรกฎาคม 2561 เวลา 09:03

    ท่าแร่เป็นเพียงตำบล นะครับ ยังไม่ใช่อำเภอ

    ตอบลบ