วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ผาช่อ เชียงใหม่ แกรนด์แคนยอนเมืองไทย

สายฝนปะปนแรงลมโหมผัดซัดขุนเขา ร่างกายผุกร่อน เนื้อดินหลุดล่อน ก้อนกระดูกเสื่อมสลาย ทว่าไม่ถือเป็นความเสียหาย หากกลายเป็นแผ่นผาน่าพิสมัย กลายเป็นขุนเขาแห่งความทรงจำ


ขุนเขาหรือภูผาที่ถูกลมฝนกัดกร่อนอยู่หลายล้านปีมีอยู่หลายที่ในโลก มีหลายที่ในประเทศไทย ที่รู้จักกันดีคือ “แพะเมืองผี” จังหวัดแพร่ “ ละลุ” จังหวัดสระแก้ว แถวๆ หนองหญ้าปล้องเมืองเพชรก็มี แต่มีขนาดเล็ก เล็กจนคนที่ผ่านไปมาไม่ใคร่สังเกต ส่วนภูผาล่าสุดที่ถูกกล่าวถึงความงามมิรู้จบคือผาช่อ 


ผาช่อ ตั้งอยู่ในอำเภอดอยหล่อ อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติแม่วาง ผาช่อเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของลมฝน ทำให้ภูผาผุกร่อน เกิดเป็นร่องรอยงดงาม ผาช่อมีลักษณะทั่วไปเป็นกำแพงและเสาหินขนาดใหญ่ มีขนาดสูงประมาณ 30 เมตร ส่วนด้านกว้างราว 100 เมตร ผาช่องามไม่เหมือนที่ใด ใครไปใครรัก ใครไปใครหลงใหล


                                   
ด้วยลักษณะทางธรรมชาติที่แปลกตาคล้ายแกรนด์แคนยอน ผาช่อจึงถูกขนานนามว่า “แกรนด์แคนยอนเมืองไทย”
เรื่องชื่อแกรนด์แคนยอนมีข้อถกเถียงจากคนบางกลุ่มว่าสมควรใช้หรือไม่อย่างไร ซึ่งผมเห็นว่านั่นเป็นประเด็นหนึ่งแต่ไม่ได้มีความสำคัญเท่าตัวภูผาที่ปรากฏ สิ่งที่ควรบันทึกและศึกษากันให้ถึงเนื้อความธรรมชาติคือสิ่งที่ก่อเกิดและผุกร่อนต่างหาก ความสำคัญดังกล่าวยังมีเรื่องราวให้เราพัฒนากันอีกเยอะ เช่น การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบนิเวศน์ศึกษา เที่ยวแบบส่งผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด อะไรประมาณนี้ครับ
 (มีนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าหลายร้อยพันปีก่อนบริเวณแห่งนี้เคยเป็นทางเดินของแม่น้ำปิง กระทั่งแม่น้ำปิงได้เปลี่ยนสายย้ายทิศไหลไปทางที่อื่น)



การเดินทาง
การเดินทางไปชมผาช่อไปได้หลายทาง เช่น จากอำเภอเมืองมาที่อำเภอสันป่าตอง เดินทางต่อมาที่อำเภอดอยหล่อ จากนั้นสังเกตป้ายข้างทางเขียนว่าแหล่งท่องเที่ยวผาช่อ  หรือมาทางอำเภอจอมทองก่อน จากนั้นเข้าสู่อำเภอดอยหล่อจะเห็นป้ายผาช่ออยู่ในระหว่างทาง 
สำหรับเส้นทางเข้าผาช่อช่วงสุดท้ายมีระยะทางประมาณ  7 กม. (เจ้าหน้าที่บอกประมาณนั้น) เป็นเส้นทางดินลูกรังอัดแน่น ถนนปรับเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ถนนใช้ได้ดีไม่ถึงกับลำบาก รถทุกชนิดเข้าถึง ระหว่างทางมีป่าโปร่งเบญจพรรณโอบกอด หากไม่รีบเร่งหรือมีเวลามากพอจะพบนกประจำถิ่นเป็นจำวนมาก


เมื่อถึงลานจอดรถต้องเดินเท้าไปอีกประมาณ 500 เมตรผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยขาไปขึ้นบันได ลงบันได ขากลับออกมาอีกทางหนึ่งเป็นทางธารน้ำ ช่วงหน้าแล้งธารแห้งเดินได้ หน้าฝนเดินลำบาก ทางอุทยานฯ จึงปิดไม่ให้คนเข้าในช่วงฝน ใครจะมาในช่วงนี้ลองสอบถามทางอุทยานฯ ให้แน่นอนอีกที เพราะความจริงเปิดได้ไปได้ คือไม่ต้องเดินในล่องน้ำแต่กลับมาตามทางเดิม ที่นี่เดินง่าย เด็กเดินได้ ผู้ใหญ่เดินดี ไม่มีอุปสรรคใดๆ มีหมวกซักใบ น้ำซักขวด รองเท้าผ้าใบซักคู่เท่านี้ก็หรูไปดูภูผาด้วยความสะดวกและเพลิดเพลินครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น