วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่


แพร่เป็นเมืองเก่าแก่ มีอายุอานามกว่าพันปี มีคนสันนิษฐานว่าเป็นเมืองรุ่นราวคราวเดียวกับเมืองลำพูน ด้วยเป็นเมืองเก่าจึงมีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองนครอยู่หลายยุคหลายสมัยและมีการเปลี่ยนชื่อเมืองมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เมืองพลนคร โกศัยนคร และเวียงโกศัย (แปลว่าผ้าแพร) ส่วนช่วงที่รุ่งเรืองถึงขีดสุดเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงมีเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือเปลี่ยนจากผู้ครองนครเป็นเทศาภิบาล  โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยบูรณ์ ปลัดมณฑลพิษณุโลกมาเป็นข้าหลวงกำกับการปกครองเมืองแพร่คนแรก ซึ่งในขณะนั้นมีเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าเมืองแพร่องค์ที่ 18 ปกครองอยู่

การเปลี่ยนแปลงการปกครองนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ มากมาย หนึ่งในนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอาคาร ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับอิทธิพลจากยุโรป ดังจะเห็นในเมืองใหญ่ทั่วไปที่มีอาคารรูปแบบยุโรปลักษณะเรือนขนมปังขิงกระจายอยู่ทั่วประเทศ การเปลี่ยนแปลงตัวอาคารในยุคนั้นไม้ได้เปลี่ยนกันทั้งเมือง หากบ้านที่ได้รับอิทธิพลสมัยใหม่เป็นบ้านระดับผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีตำแหน่งในระดับสูงของเมือง หรือบ้านที่มีฐานะเท่านั้น เช่น คุ้มเจ้าหลวง บ้านวงศ์บุรี บ้านวิชัยราชา เป็นต้น



อาคารคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ประกอบไปด้วยอาคาร 2 ชั้น ขนาดใหญ่ เป็นอาคารขนมปังขิง ด้านหน้ามีสนามหญ้ากว้าง ภายในสนามหญ้าประกอบด้วยอนุสาวรีย์เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย

คุ้มเจ้าหลวง แต่เดิมเป็นบ้านพักของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2435 รูปทรงอาคารมีลักษณะสถาปัตยกรรมยุคสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างไทยกับยุโรป หรือที่เรียกว่าเรือนขนมปังขิง สร้างโดยช่างฝีมือชาวจีนและช่างไทยพื้นบ้าน
คุ้มเจ้าหลวงเป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาดใหญ่ บานประตูหน้าต่างนับรวมกันได้ 72 บาน นอกจากความงามแบบเรือนขนมปังขิงแล้วสิ่งที่สร้างเสน่ห์ให้อาคารหลังนี้คือลวดลายฉลุไม้ เริ่มตั้งแต่ปั้นลม เชิงชาย ระเบียง ฯลฯ 
ตัวอาคารก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนสลับกับไม้ในบางส่วน การสร้างอาคารไม่มีการฝังเสาเข็มแต่ใช้ไม้ประดู่แบบซุงท่อนรองรับฐานเสาทั้งหลัง 


ทัศนียภาพห้องพักผ่อนหรือห้องรับแขก บนชั้น 2 ของตัวบ้าน


ประตูหน้าต่างรูปเหลี่ยมขนาดใหญ่ เหนือบานประตูมีงานปูนปั้นให้ประโยชน์ในการกันน้ำฝนไหลเข้าบ้าน
และสร้างความสวยงามด้วย

คุ้มเจ้าหลวงเป็นอาคารโอ่โถงสร้างด้วยฝีมือเชิงช่าง มีความวิจิตรบรรจงงดงามน่าชม ที่สำคัญ ห้องแต่ละห้องมีความกว้างขวาง ฝ้าเพดานสูงโปร่ง หน้าต่างประตูมีขนาดใหญ่ทำให้ลมพัดผ่านโดยสะดวก ส่วนจุดที่มีความแปลกแตกต่างจากเรือนทั่วไปคือชั้นล่างสุด (ใต้ถุน) กั้นห้องเป็นที่กักขังข้าทาสที่ทำผิดกฏขั้นลหุโทษ
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ได้รับรางวัลอาคารอนุลักษณ์ดีเด่น ประจำปี 2536 และสถาปัตยกรรมดีเด่นปี 2540 ประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
บนถนนไชยสมบูรณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งคุ้มเจ้าหลวงยังมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอยู่ในบริเวณใกล้เคียง คืออาคารพิพิธภัณฑ์การศึกษา โรงเรียนนารีรัตน์ และวัดพระบาทมิ่งเมือง ส่วนบ้านวงศ์บุรีซึ่งเป็นบ้านเก่าโบราณที่งดงามอีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ทางด้านหลังอาคารคุ้มเจ้าหลวง


ห้องนอนในอาคารคุ้มเจ้าหลวงยังคงสภาพเดิมไว้ได้ดีมาก


ห้องโถงใหญ่จัดเก็บของเก่าจำพวกเครื่องโลหะ เครื่องเซารามิค ปืน ฯลฯ ไว้ในตู้ไม้กรุกระจก

คุ้มเจ้าหลวงเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญที่ทรงคุณค่าของเมืองแพร่และของคนไทย เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่คงสภาพบ้านได้ดีดุจเดิม มีความงามทั้งตัวสถาปัตยกรรมภายนอกและภายใน มีงานตกแต่งอื่นๆ เป็นองค์ประกอบให้เรือนขนมปังขิงหลังนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น 
ปัจจุบันอาคารคุ้มเจ้าหลวงเปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปเข้าชมเพื่อก่อประโยชน์ในด้านการศักษาหาความรู้เกี่ยวประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น